วันจันทร์ที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2555

มหัศจรรย์ของหุ้น VI



การลงทุนแบบ Value Investment ในเมืองไทยนั้นน่าจะเริ่มขึ้นอย่างเป็นจริงเป็นจังหลังจากปี 2540 ซึ่งเป็นปีวิกฤติเศรษฐกิจไทยและหลังจากการตีพิมพ์หนังสือเรื่อง  ตีแตก  ของผมในราวปี 2542   นั่นเป็นปีเริ่มต้นที่  เข้าตำรา  โหร  นั่นคือ  ดวง ตกฟาก  ของ VI เหมาะสม  เป็น ดวงที่ดีมาก  เพราะหลังจากการตกต่ำอย่างหนักของตลาดหุ้นในช่วงนั้นทำให้ตลาดเต็มไปด้วยหุ้นที่มีราคาถูกอย่างไม่น่าเชื่อ  ผมยังจำได้ว่ามีหุ้นของกิจการที่มั่นคงแข็งแกร่ง  เป็นผู้นำอันดับหนึ่งในอุตสาหกรรมอาหารที่เป็นสิ่งจำเป็นในชีวิต  ที่ยังมียอดขายดีมากในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ  มีกำไรและปันผลที่สูงมาก  ฐานะการเงินแข็งแกร่งไม่มีหนี้สินจากสถาบันการเงิน   แต่ราคาของมันคิดเป็นค่า PE แค่  5  เท่า  ค่า PB  ไม่เกิน 1 เท่า  และจ่ายปันผลเมื่อเทียบกับราคาหุ้นถึง 10%  ต่อปี  ดังนั้น  การลงทุนซื้อหุ้นแบบนี้ซึ่งก็คือหุ้นแบบ VI จึงเป็นการลงทุน  ในฝัน  และเมื่อเวลาผ่านไป  มันก็พิสูจน์ให้เห็นว่าเป็นการลงทุนที่ดีและได้ผลตอบแทนที่งดงามมาก

 ว่าไปแล้ว  ดวงตกฟากของ  VI ในเมืองไทยก็เหมือนกับดวงตกฟากของ VI ต้นตำรับในอเมริกาที่เกิดขึ้นหลังวิกฤติเศรษฐกิจของอเมริกาในปี  1929 และหลังการตีพิมพ์หนังสือเรื่อง  Securities  Analysis ของ  เบน  เกรแฮม ในปี 1934  ซึ่งทำให้การลงทุนแบบ VI  แพร่หลายไปทั่วอเมริกาและทั่วโลกในเวลาต่อมา

หลังจากการเริ่มต้นแนวทางการลงทุนแบบ VI ในช่วงจังหวะเวลาที่ดีเยี่ยมนั้นแล้ว  การลงทุนแบบ VI  ในตลาดหุ้นไทยก็ค่อย ๆ  เจริญเติบโตขึ้นเป็นลำดับ  ในช่วงเวลากว่าสิบปีที่ผ่านมาเราได้เห็นนักลงทุนแบบ  VI เพิ่มขึ้นจำนวนมาก  ปัจจัยสำคัญที่ทำให้แนวความคิดนี้แพร่หลายออกไปนั้นน่าจะอยู่ที่ผลงานความสำเร็จของการลงทุนของนักลงทุนแบบ VI  จำนวนไม่น้อยที่สามารถสร้างผลตอบแทนงดงาม   ผลตอบแทนของ VI หลายคนนั้นแทบจะเรียกได้ว่า  มหัศจรรย์  และทำให้พวกเขากลายเป็น  เศรษฐี  ได้ในเวลาอันสั้น   แต่ในกรณีส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมดที่พูดถึงนั้นก็ยังเป็นเรื่องที่  กล่าวอ้าง  หรือเป็นการ  คาดการณ์  กันเองโดยคนอื่น   เพราะผลงานการลงทุนแบบ VI  นั้น   ทำโดยบุคคลธรรมดาที่ไม่ได้เปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณชน  ดังนั้น  จึงยังไม่มีข้อพิสูจน์จริง ๆ  ว่าการลงทุนแบบ  VI  เป็นการลงทุนที่ดีกว่าหรือเหนือกว่าการลงทุนแบบอื่น
 
เพื่อที่จะพิสูจน์ว่าการลงทุนแบบ VI ในเมืองไทยนั้นเป็นการลงทุนที่  เหนือกว่า  อย่างเป็นวิชาการ  ไม่ใช่จากการกล่าวอ้าง  ผมได้ทำการศึกษาเรื่องผลตอบแทนจากการลงทุนแบบ VI  ในตลาดหุ้นไทยสองครั้งและได้ตีพิมพ์ผลงานลงในหนังสือวารสารทางวิชาการของคณะบริหารธุรกิจของนิด้าฉบับล่าสุดคือเดือน พฤศจิกายน 2552  และต่อไปนี้คือสาระสำคัญของการศึกษาทั้งสองครั้งที่ใช้วิธีการศึกษาแบบเดียวกันและผมถือโอกาสสรุปรวมการศึกษาทั้งสองครั้งไว้ในที่นี้

            วิธีการคัดเลือกว่าหุ้นตัวไหนเป็นหุ้น  Value หรือเป็นหุ้นคุณค่าก็คือ  การหาหุ้นที่มีค่า  PE ไม่เกิน  10  เท่า  ค่า PB ไม่เกิน 1 เท่า  และค่าผลตอบแทนปันผลหรือ Dividend Yield ไม่ต่ำกว่า 3%   โดยที่หุ้นตัวไหนเข้าเกณฑ์ดังกล่าวในตอนสิ้นปีที่แล้ว  เราก็ซื้อหุ้นเข้าพอร์ตเพื่อลงทุนในปีต่อมา   เราจะถือหุ้นดังกล่าวเป็นเวลาหนึ่งปี   พอถึงสิ้นปีเราก็มาดูอีกทีหนึ่งว่าหุ้นยังเข้าเกณฑ์หรือไม่   ถ้ายังเข้าเกณฑ์เราก็ยังถือต่อไปเพราะมันยังเป็นหุ้น Value อยู่   ถ้าไม่เข้าเกณฑ์แล้วเราก็ขายทิ้งแล้วเอาเงินไปลงในหุ้นอื่นที่เข้าเกณฑ์แทน  ทำแบบนี้ไปเรื่อย ๆ  ทุกปี แล้วมาดูว่าจะได้ผลตอบแทนเท่าไรเทียบกับดัชนีตลาดหลักทรัพย์

            การศึกษานี้ครอบคลุมตั้งแต่ต้นปี 2543 จนถึงสิ้นปี 2551 คิดเป็นเวลา 9 ปี  ผลของการศึกษาสรุปได้เป็นดังนี้

1. จำนวนหุ้น Value ที่เข้าเกณฑ์และถูกเลือกลงทุนในปี 2543 มี 47 บริษัท และถือว่ามีจำนวนน้อยที่สุดในช่วง 9 ปีที่ศึกษา  สาเหตุคงเป็นเพราะในปีนั้นบริษัทจำนวนมากคงยังขาดทุนกันอยู่ทำให้หาหุ้นที่มีค่า PE ต่ำได้ยาก  หลังจากนั้นแล้ว  จำนวนหุ้นที่เข้าข่ายเป็นหุ้น Value ในแต่ละปีเฉลี่ยอยู่ที่ 70 บริษัท

2. พอร์ตของหุ้น Value ที่มีหุ้นประมาณ 70 ตัว ในแต่ละปีในช่วงเก้าปีนั้น  กำไรทุกปียกเว้นปี 2551 ที่ขาดทุนประมาณ 2%  ปีที่กำไรสูงสุดคือปี 2549 ที่กำไร 73.56%  โดยที่กำไรเฉลี่ยแบบทบต้นเท่ากับประมาณ 34%  ต่อปี  ในขณะที่ผลตอบแทนของตลาดหลักทรัพย์คิดจากดัชนีตลาดนั้น  ในช่วง 9 ปี  มีขาดทุน  4  ปี  และขาดทุนหนักที่สุดในปี 2551 ที่ประมาณ 43%  ปีที่ดีที่สุดคือปี 2546 ซึ่งดัชนีตลาดขึ้นไปถึง 118%  และเป็นปีเดียวที่ผลตอบแทนของตลาดดีกว่าผลตอบแทนของหุ้น VI  โดยเฉลี่ยแล้ว  ผลตอบแทนทบต้นของตลาดในช่วง 9 ปีนั้น  ให้ผลตอบแทนประมาณ 4.8%  ต่อปี ซึ่งน้อยกว่าพอร์ต  VI ถึงปีละประมาณ 29%

3. ถ้าสมมุติว่าเราลงทุนเริ่มต้นในปี 2543 จำนวน 1 ล้านบาท  ภายในสิ้นปี 2551 พอร์ต VI จะโตขึ้นเป็นประมาณ 13.6 ล้านบาท  ขณะที่ถ้าลงทุนตามดัชนีตลาดหุ้น  พอร์ตจะเพิ่มขึ้นเป็นเพียง 1.5 ล้านบาทในเวลา 9 ปี

ข้อสรุปสุดท้ายของผมก็คือ  การลงทุนในหุ้น VI ในตลาดหุ้นไทยในช่วงประมาณ 9 ปีที่ผ่านมานั้น  

ให้ผลตอบแทนที่  มหัศจรรย์จริง ๆ  และนี่เป็นการลงทุนที่ไม่ต้องวิเคราะห์อะไรมาก  ดูแค่ตัวเลขว่าเป็นหุ้นถูกเข้าข่ายหุ้นแบบ VI ในแนวของ เบน เกรแฮม ก็เพียงพอแล้ว  อย่างไรก็ตาม   นั่นคืออดีตที่ผ่านมาแล้ว  และมันอาจจะเป็นโอกาสทองที่ไม่เกิดขึ้นอีก   ในวันที่ VI เพิ่งเริ่มต้นในตลาดหุ้นไทยใหม่ ๆ คนอาจจะยังรู้จักการลงทุนแบบนี้น้อย  แต่ในวันนี้  คนที่เป็น  VI มีมากขึ้นและนี่อาจจะทำให้การลงทุนแนว  เบน  เกรแฮม ยากขึ้น  และผลตอบแทนอาจจะไม่โดดเด่นเท่ากับอดีตที่ผ่านมา  ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร  การลงทุนแบบ VI น่าจะยังเป็นวิธีการที่เหนือกว่าเมื่อเทียบกับการลงทุนแบบอื่น  เพราะสถิติของผลตอบแทนแบบ VI จากการศึกษาในตลาดอเมริกาที่พัฒนามากแล้วก็ยังแสดงให้เห็นว่า  VI เป็นการลงทุนที่เหนือกว่า  แม้ว่าความเหนือกว่าจะไม่มากอย่างที่เห็นจากการศึกษาในครั้งนี้

8 มีนาคม  2553

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น