วันจันทร์ที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2555

ไข่ในตะกร้า



กฏของการลงทุนข้อที่สำคัญที่สุดข้อหนึ่งก็คือ  การกระจายความเสี่ยง  หรือที่เรียกว่า Diversify  ในภาษาอังกฤษ   การกระจายความเสี่ยงนั้นจะเป็นการป้องกันอันตรายร้ายแรงที่อาจจะเกิดขึ้นจากความผันผวนหรือความผิดพลาดในการลงทุนในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง  ในแวดวงการเงินมีคำเปรียบเปรยเรื่องการกระจายความเสี่ยงว่าเหมือนกับการ  ใส่ใข่ไว้ในตะกร้าหลายใบ  นั่นก็คือ  หากตะกร้าใบใดใบหนึ่งตกลงพื้นทำให้ใข่แตกหมด  ใข่ในตะกร้าใบอื่น ๆ  ก็ยังอยู่   แต่ถ้าใส่ใข่ทั้งหมดในตะกร้าใบเดียว  และตะกร้าใบนั้นตกลงพื้น  ความเสียหายก็มหาศาล  ดังนั้น  เขาจึงบอกว่า  อย่าใส่ใข่ทั้งหมดในตะกร้าใบเดียว   ความหมายก็คือ  เงินทั้งหมดที่มีอยู่นั้น  อย่าลงทุนในทรัพย์สินเพียงอย่างเดียว  ให้กระจายเงินลงทุนไปในทรัพย์สินต่าง ๆ  ทุกอย่างให้มากที่สุด  เวลาทรัพย์สินอย่างหนึ่งเสียหาย  ทรัพย์สินอื่นก็ยังอยู่และมักให้ผลตอบแทนชดเชยกับความเสียหายนั้นได้  ถ้าทำแบบนี้   โดยรวมแล้ว  เราจะไม่เสี่ยงหรือเสียงน้อยมาก  และผลตอบแทนที่ได้จะ ดีพอใช้

วิธีการในการ Diversify หรือกระจายความเสี่ยงนั้นมีหลักการใหญ่ ๆ  อยู่ 4 ข้อ  ซึ่งถ้าเราทำตามแล้ว  รับประกันได้ว่า  ความเสี่ยงของเราจะน้อยลง  ลงทุนแล้วนอนตาหลับและได้ผลตอบแทนน่าพอใจ  อย่างไรก็ตาม  อย่าหวังรวยจากการลงทุนด้วยกลยุทธ์กระจายความเสี่ยงมาก ๆ 

ข้อแรก  กระจายการถือหลักทรัพย์ในหลาย ๆ  กลุ่มหรือที่เรียกว่าหลาย  Asset Class  โดยกลุ่มหลักทรัพย์ที่สำคัญประกอบด้วยกลุ่มตราสารหนี้ซึ่งรวมถึงเงินฝากในสถาบันการเงินที่กำหนดผลตอบแทนเป็นอัตราดอกเบี้ยที่แน่นอน   กับกลุ่มที่ให้ผลตอบแทนไม่แน่นอนแต่โดยเฉลี่ยแล้วให้ผลตอบแทนสูงกว่ากลุ่มแรก  ซึ่งตัวใหญ่ก็คือ  หุ้นของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์   การกระจายการถือหลักทรัพย์เป็นสองกลุ่มใหญ่นั้นช่วยให้เราไม่เสี่ยงเกินไปเพราะในบางช่วงหุ้นอาจจะตก  แต่ถ้าเรามีพันธบัตรอยู่ครึ่งหนึ่งหรือ  60%  ส่วนนี้เราจะไม่เสียหาย  เพราะเวลาหุ้นตก  ราคาพันธบัตรมักจะไม่ลดลง  ที่จริงมันมักจะเพิ่มขึ้นด้วยซ้ำ  ดังนั้น  เราไม่เสียหายมาก  ในทางตรงกันข้าม  ในกรณีที่หุ้นขึ้น  เราก็ได้กำไรจากการที่หุ้นขึ้นซึ่งทำให้ผลตอบแทนรวมของเราดีกว่าการถือพันธบัตรหรือเงินฝากเพียงอย่างเดียว

ข้อสอง  กระจายความเสี่ยงโดย   การลงทุนในหลายช่วงเวลา   นี่คือการลดความเสี่ยงในเรื่องของเวลาเข้าลงทุน  เหตุผลก็คือ  ถ้าเรามีเงินก้อนโตก้อนหนึ่งแล้วเราเข้าซื้อหลักทรัพย์เช่นหุ้นในเวลาใดเวลาหนึ่งด้วยเงินทั้งหมด  ถ้าช่วงนั้นราคาหุ้นต่ำ  หลังจากนั้นหุ้นวิ่งขึ้นไปสูงมาก  ผลตอบแทนของเราก็ดีมาก  แต่ถ้าตรงกันข้าม  เราเข้าลงทุนในช่วงที่หุ้นราคาสูงติดดอย  หลังจากลงทุนแล้วหุ้นตกลงมามาก  ผลตอบแทนของเราก็จะแย่มาก  นี่คือความเสี่ยงของการเน้นการลงทุนในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง   วิธีการลดความเสี่ยงก็คือ  ค่อย ๆ  กระจายการลงทุนเป็นช่วง ๆ  โดยไม่ต้องสนใจว่าเวลานั้นหุ้นจะสูงหรือต่ำ  ยิ่งทยอยลงทุนเป็นช่วงเวลายาวนานก็ยิ่งช่วยลดความเสี่ยงได้มากขึ้นเท่านั้น  อย่าไป  เก็งว่าช่วงไหนเป็นเวลาที่ดีเพราะเรามักจะเก็งไม่ถูก   หลักการกระจายการลงทุนข้อนี้เหมาะสมกับคนกินเงินเดือนประจำที่มีเงินเข้าลงทุนเรื่อย ๆ  ตามเวลาเงินเดือนออก  ซึ่งเขาควรนำมาลงทุนโดยไม่ต้องคำนึงถึงภาวะตลาดหุ้น

ข้อสาม  กระจายการลงทุนในหลาย ๆ  ตลาด   นี่คือการลดความเสี่ยงจากการที่ตลาดหนึ่งตลาดใดจะแย่ผิดปกติ  เช่น  ถ้าคิดว่าตลาดหุ้นของประเทศไทยนั้นมีความเสี่ยงจากอะไรบางอย่างเป็นพิเศษ  การกระจายการลงทุนไปยังต่างประเทศก็เป็นทางหนึ่งในการลดความเสี่ยงได้  เพราะหุ้นของประเทศอื่นนั้นมักจะมีความเสี่ยงไม่เหมือนเมืองไทยซึ่งจะช่วยชดเชยผลตอบแทนได้ในกรณีที่เกิดความเสียหายจากประเทศไทย  เช่นเดียวกัน  บางครั้งหุ้นในตลาดไทยก็อาจให้ผลตอบแทนดีกว่าหุ้นในตลาดต่างประเทศ  โดยรวมแล้ว  การลงทุนในหลายประเทศจะช่วยลดความเสี่ยงและเพิ่มผลตอบแทนได้

ข้อสุดท้ายของการกระจายความเสี่ยงก็คือ  การปรับพอร์ต  หรือ  Rebalance นั่นก็คือ  เมื่อกระจายความเสี่ยงโดยการถือครองหลักทรัพย์แต่ละกลุ่มในอัตราที่เหมาะสมกับตนเองดีแล้ว  เช่น  มีหุ้นคิดเป็น  60%  ในตอนต้นปี  แต่พอถึงปลายปี  หุ้นอาจจะมีราคาเพิ่มขึ้นมากในขณะที่ตราสารหนี้ยังมีราคาเท่าเดิม  กลายเป็นว่า  หุ้นมีน้ำหนักมากขึ้นเป็น  80%  ของพอร์ต  สิ่งที่เราควรทำก็คือ  ลดปริมาณหุ้นลงให้กลับมาเป็น 60%  เหมือนเดิม  นั่นก็คือ  ให้ขายหุ้นบางส่วนแล้วนำเงินที่ได้ไปลงทุนในตราสารหนี้   ตรงกันข้าม  ถ้าถึงสิ้นปีหุ้นมีราคาลดลงมาก  หุ้นเหลือเพียง 40%  ของพอร์ต  สิ่งที่เราควรทำก็คือ  ให้เอาเงินที่เป็นตราสารหนี้หรือเงินฝากไปซื้อหุ้นเพิ่ม  ซึ่งจะทำให้หุ้นกลับขึ้นมาเป็น  60%  เหมือนเดิมโดยไม่ต้องกลัวว่า  หุ้นกำลังตก  ถ้าเราทำแบบนี้ก็เท่ากับว่าเวลาหุ้นขึ้นเรามักจะขาย   และเวลาที่หุ้นตก  เรามักจะซื้อหุ้นเพิ่ม  โดยเฉลี่ยแล้ว  เราจะได้ผลตอบแทนที่ดีขึ้น  ความเสี่ยงจะลดลง

โดยสรุปสุดท้ายก็คือ  การกระจายความเสี่ยงโดยการ  Diversify และ  Rebalance นั้น  เป็นยุทธศาสตร์การลงทุนที่  เน้นความปลอดภัย  โดยเฉพาะสำหรับคนที่มีความรู้ความสามารถในการลงทุนไม่มาก  มันเหมาะกับคนชั้นกลางที่กินเงินเดือนและต้องการสร้างหลักประกันในการที่จะสามารถเกษียณได้อย่างมีความสุข  Model หรือรูปแบบหนึ่งก็คือ  การที่คนกินเงินเดือนกันเงินรายได้ประมาณ 10% มาลงทุนทุกเดือน  โดยการลงทุนอาจจะกระจายซื้อหน่วยลงทุนหุ้นที่อิงดัชนีเช่น  TDEX จำนวน 40%  อีก 20%  อาจจะซื้อหน่วยลงทุนที่ลงทุนในหุ้นต่างประเทศ  รวมเป็นหุ้น 60%  เงินอีก 30%  ลงทุนในพันธบัตรหรือหุ้นกู้ของบริษัทระดับบลูชิพหรือรัฐวิสาหกิจชั้นนำ  ที่เหลือประมาณ 10%  อาจจะเก็บเป็นเงินฝากในธนาคาร   ทั้งหมดนั้น  ต้องทำการปรับพอร์ตหรือ  Rebalance ทุกปี  ปีละครั้ง โดยที่ทั้งหมดนั้นต้องทำโดยอัตโนมัติ  ไม่ใช้ความรู้สึกหรือพยายามเก็งภาวะตลาด  และนี่คือ  Model ที่น่าจะพาให้ผู้ลงมือทำไปถึงเป้าหมายอย่างไม่เครียดและมีความสุขตลอดระยะเวลาอันยาวนานของการลงทุนได้  

16 มีนาคม  2553

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น