วันศุกร์ที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2555

จอห์น โบเกิล



ในปี 1999 นิตยสารฟอร์จูนอันทรงอิทธิพลประกาศชื่อนักลงทุนที่เป็น  ยักษ์ใหญ่แห่งศตวรรษที่ 20”  จำนวน 4 คน  ประกอบด้วย  วอเร็น บัฟเฟตต์  ปีเตอร์ ลินช์  จอร์จ โซรอส  และ  จอห์น โบเกิล  แห่งกองทุน แวนการ์ด  เจ้าพ่อกองทุนอิงดัชนีที่มีเม็ดเงินลงทุนมากที่สุดเป็นอันดับสองของโลก  มาดูชีวิตและผลงานของเขา

โบเกิล เกิดในปี 1929 ซึ่งเป็นปีที่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหญ่ที่สุดในอเมริกาและในโลก นับถึงวันนี้ก็อายุ 82 ปีแล้วแต่เขาก็ยังกระตือรือร้นและเขียนหนังสือการลงทุนออกมาอย่างต่อเนื่อง   เขาเป็นนักเรียนที่เรียนเก่ง  จบปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยพริ้นซตันและปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย  สิ่งที่ทำให้โบเกิลมีชื่อเสียงโด่งดังเคียงข้าง วอเร็น บัฟเฟตต์  ก็คือ การที่เขาเป็นผู้ก่อตั้งกองทุนรวมอิงดัชนี S&P 500 ในปี 1974 หรือกว่า 30 ปีมาแล้ว  ซึ่งถือว่าเป็นกองทุนอิงดัชนีที่ขายหน่วยลงทุนให้กับประชาชนทั่วไปเป็นกองแรก  โดยที่กองทุนอิงดัชนีนี้  เขาได้รับอิทธิพลจากงานวิจัยของ ยูจีน ฟามา  เบอร์ตัน มาลคีล  และพอล แซมมวลสัน  ปรมาจารย์ทางด้านวิชาการลงทุนที่ค้นพบทฤษฎี ตลาดหุ้นที่มีประสิทธิภาพที่บอกว่า  ราคาหุ้นในตลาดนั้นมีราคาเหมาะสมอยู่แล้ว  ไม่มีประโยชน์ที่จะไปเลือกหุ้น   ดังนั้น  วิธีที่ดีที่สุดในการลงทุนก็คือ  ซื้อหุ้นทุกตัวที่อยู่ในดัชนีหรืออยู่ในตลาด  ไม่ต้องจ้างคนมาเลือกหุ้นลงทุนที่ทำให้สิ้นเปลืองซึ่งทำให้ผลตอบแทนของกองทุนลดลง

กองทุนอิงดัชนีของแวนการ์ดนั้น  คิดค่าธรรมเนียมในการบริหารกองทุนต่ำมาก ระดับแค่ 0.1 หรือ0.2 เปอร์เซ็นต์ หรือไม่น่าจะเกิน 0.5%   ในขณะที่กองทุนทั่วไปที่มีผู้บริหารเลือกซื้อขายหุ้นนั้นมีต้นทุนสูง มาก  โดยเฉลี่ยน่าจะถึง 4-5% ต่อปี  ดังนั้น  โอกาสที่กองทุนทั่วไปจะทำผลงานได้ดีกว่ากองทุนอิงดัชนีจะน้อยมาก  สถิติคร่าว ๆ  ก็คือ  กองทุนอิงดัชนีสามารถเอาชนะกองทุนทั่วไปกว่า 70% ของกองทุน  ผลตอบแทนที่ยอดเยี่ยมของกองทุนอิงดัชนีทำให้กองทุนอิงดัชนีได้รับความนิยมสูงมาก  กลายเป็น กระแส”  ที่มาแรงและกลายเป็นกองทุนที่คนจำนวนมากเลือกที่จะลงทุน  ส่งผลให้ชื่อของ โบเกิล  ในฐานะ ผู้ริ่เริ่มกลายเป็น ตำนานของนักลงทุนแห่งศตวรรษคนหนึ่ง
โบเกิลเองนั้น  ไม่ได้แค่บริหารกองทุนรวมอิงดัชนี  เขาให้คำแนะนำและเผยแพร่แนวคิดเกี่ยวกับการลงทุนที่ถูกต้องและเหมาะสมกับนักลงทุนทั่วไป  ผลงานการเขียนของเขามีหลายเล่ม  อิทธิพลต่อนักลงทุนของเขาได้รับการยอมรับอย่างสูง  นิตยสารไทม์ในปี 2004 จัดให้เขาเป็น  บุคคลที่มีอิทธิพลต่อประชาชนสูงที่สุด 100 คนของโลก”   และต่อไปนี้คือกฎพื้นฐาน 8 ข้อ สำหรับคนที่จะซื้อกองทุนรวมเพื่อการลงทุนของโบเกิล

1.    เลือกซื้อกองทุนรวมอิงดัชนีที่มีต้นทุนต่ำ  นี่มาจากพื้นฐานที่กล่าวแล้วว่า  ผู้จัดการการลงทุนนั้น  ไม่สามารถที่จะเลือกหุ้นได้ถูกต้อง  ดังนั้น  ถ้าต้นทุนต่ำ  ผลตอบแทนก็จะสูง
2.    พิจารณาอย่างรอบคอบถึงต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากคำแนะนำต่าง ๆ  ข้อนี้ก็คล้าย ๆ  กับข้อแรก  เขาคิดว่าคำแนะนำส่วนใหญ่ไม่มีประโยชน์และไม่คุ้มกับเงินที่เสียไป
3.    อย่าให้ค่ากับผลงานในอดีตของกองทุนมากเกินไป  เขาเชื่อว่าอดีตไม่ได้บอกว่าอนาคตกองทุนจะบริหารได้ดีเหมือนกับที่ผ่านมา
4.    ใช้ผลงานในอดีตที่ผ่านมาเป็นตัวกำหนดว่ากองทุนมีความสม่ำเสมอของผลงานและมีความเสี่ยงขนาดไหน
5.    ระวัง  ดารา”  นี่ก็คือ  ผู้จัดการกองทุนรวมที่ได้รับการจัดอันดับว่าเป็น  ดารา”  มีผลงานที่โดดเด่น  เพราะดาราเหล่านี้  ในอนาคตก็มักจะ ตกอับ”  ผลงานแย่ลงหลังจากที่เราเข้าไปลงทุนซื้อหน่วยลงทุนของเขา
6.     ระวังขนาดของกองทุน  เพราะเมื่อกองทุนยังเล็กนั้น  หลายกองทุนอาจจะทำผลงานได้อย่างโดดเด่น  แต่เมื่อกองทุนใหญ่ขึ้น  ผลตอบแทนการลงทุนก็มักจะแย่ลง
7.   อย่าลงทุนในหลาย ๆ  กองทุนเกินไป  เพราะมันไม่มีประโยชน์  การคิดว่ากองนั้นบริหารได้ดี  กองนี้มีนโยบายที่น่าสนใจ และอื่น ๆ  นั้น  ไม่ได้เพิ่มผลตอบแทนให้เรา
8.    ซื้อกองทุนเท่าที่เหมาะสมกับตนเองแล้ว  ถือไว้  ไม่ต้องไปซื้อ ๆ  ขาย ๆ ตามภาวะตลาดหรือเปลี่ยนกองทุนหรือผู้บริหารกองทุนไป ๆ  มา ๆ 

การลงทุนซื้อกองทุนรวมนั้น  เป็นกลยุทธ์การลงทุนในหุ้นที่เหมาะกับคนส่วนใหญ่ที่ไม่มีเวลาหรือความสามารถในการวิเคราะห์หุ้น  ในประเทศไทยเองนั้นดูเหมือนว่าคนที่ลงทุนในกองทุนรวมหุ้นจะมีค่อนข้างน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับในตลาดหุ้นสหรัฐที่นักลงทุนรายย่อยมักจะลงทุนผ่านกองทุนรวมในขณะที่นักลงทุนรายย่อยบ้านเรานั้นชอบลงทุน เล่นหุ้นเอง   ว่าไปแล้ว  กองทุนรวมหุ้นที่มีคนซื้อมากดูเหมือนว่าจะเป็นกองทุน LTF หรือกองทุนรวมหุ้นระยะยาวที่คนลงทุนเพื่อใช้สิทธิประโยชน์ทางด้านภาษีเป็นหลัก  นอกเหนือไปจากนั้นก็จะเป็นการซื้อกองทุนรวมที่มีผู้บริหารกองทุนเลือกซื้อหุ้นซึ่งผลงานการลงทุนดูเหมือนว่าจะไม่น่าประทับใจนัก
   
สำหรับคนที่ลงทุนซื้อกองทุนรวม  กองทุนที่อิงดัชนีดูเหมือนว่าจะไม่เป็นที่นิยมเท่าที่ควร  เหตุผลเป็นอย่างไรผมก็ไม่ทราบ  อาจจะเป็นเพราะไม่มีคนเชียร์หรือชี้ให้เห็นถึงผลงานและข้อดีของกองทุนอิงดัชนีอย่าง จอห์น โบเกิล ก็ได้  และถ้าเป็นสาเหตุนี้   ผมเองก็ขอแนะนำไว้ ณ. ที่นี้เลยว่า  การลงทุนในกองทุนหุ้นที่อิงดัชนีคือการลงทุนในกองทุนรวมที่ดีที่สุด  และนี่ไม่ใช่ผมคนเดียวที่เห็นอย่างนั้น  วอเร็น บัฟเฟตต์ เองแนะนำว่า  สำหรับนักลงทุนรายย่อยโดยทั่วไป  กลยุทธ์การลงทุนที่ดีที่สุดก็คือ  การลงทุนในกองทุนรวมหุ้นที่อิงดัชนีที่มีต้นทุนการดำเนินงานที่ต่ำที่สุด

31  พฤษภาคม  2554

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น