วันเสาร์ที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2555

หุ้นรัฐวิสาหกิจ


รัฐวิสาหกิจ   และบริษัทที่รัฐมีอำนาจในการควบคุมแต่ถือหุ้นไม่ถึง 50% ในตลาดหุ้นไทยนั้นมีไม่น้อย   แต่ละบริษัทมักจะเป็นกิจการขนาดใหญ่และใหญ่ที่สุด   หุ้นของบริษัทเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นหุ้น  Blue Chip  ที่เป็นหุ้นยอดนิยมของนักลงทุนทั่วไป  แต่บริษัทและหุ้นเหล่านี้มีความแตกต่างกับหุ้นของบริษัททั่ว    ไปอยู่พอสมควร   มาดูกันว่าข้อดีและข้อเสียของการเป็นบริษัทของรัฐนั้นมีอะไรบ้าง

ก่อนอื่นคงต้องพูดถึงภาพใหญ่ที่สุดของหุ้นรัฐวิสาหกิจก่อนว่าเป็นกิจการที่  ไม่มีเจ้าของ  นั่นคือ  เจ้าของก็คือรัฐ   ซึ่งก็คือประชาชนทั้งประเทศ  ซึ่งแน่นอนไม่สามารถและ  ไม่มีสิทธิ  มาควบคุมหรือสั่งการอะไรกับผู้บริหารและพนักงานของบริษัท   คนที่มีอำนาจจริง    คือ ตัวแทนของประชาชน   ซึ่งก็คือนักการเมืองที่ได้รับการเลือกตั้งและเข้ามามีอำนาจในการกำกับบริษัทรัฐวิสาหกิจเหล่านั้น   ดังนั้น  ผู้บริหารรัฐวิสาหกิจจึงต้องบริหารและดำเนินกิจการในสิ่งที่เป็นผลประโยชน์ของคนที่สามารถให้คุณให้โทษแก่ตนเอง   ซึ่งก็คือนักการเมืองที่เป็นผู้ควบคุมบริษัทโดยถือว่านี่คือภารกิจอันดับหนึ่ง    ส่วนผลประโยชน์ของ   ผู้ถือหุ้น  ถือเป็นภารกิจรองลงมาอยู่ในอันดับท้าย ๆ  หลังผลประโยชน์ของกลุ่มผู้เกี่ยวข้องอื่น ๆ   เช่นผลประโยชน์ของกรรมการ   พนักงาน  หรือ  ประชาชน   และนี่ก็คือพื้นฐานสำคัญที่ทำให้หุ้นรัฐวิสาหกิจแตกต่างจากบริษัทอื่น ๆ

สิ่งที่ตามมาจากโครงสร้างของรัฐวิสาหกิจดังกล่าวก็คือ 
ข้อแรก  รัฐวิสาหกิจส่วนใหญ่มักจะมีประสิทธิภาพในการทำงานที่ต่ำกว่าบริษัทเอกชน   ที่เห็นชัดเจนก็คือ  มักจะมีจำนวนพนักงานมากกว่าบริษัทเอกชนที่ทำงานคล้าย ๆ  กันมาก    พนักงานเองก็มักจะมีสวัสดิการค่อนข้างดี   มีสิทธิในการลา  การรักษาพยาบาล  การใช้บริการของบริษัท  และสิทธิอื่น ๆ   มากมายเมื่อเทียบกับบริษัทเอกชน   นี่ก็คงเกิดจากแนวความคิดหลักที่ว่าผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นนั้นไม่สำคัญเท่าผลประโยชน์ของพนักงาน   เพราะผู้ถือหุ้นนั้น  ไม่ค่อยมีตัวตน  มีแต่ผู้ถือหุ้นรายย่อยที่อาจจะมา  บ่นกันปีละครั้งในที่ประชุมผู้ถือหุ้น


ข้อสอง   รัฐวิสาหกิจนั้น  จำนวนมากมักจะซื้อทรัพย์สินหรือวัตถุดิบที่จะใช้ในการดำเนินการในราคาที่สูงกว่าบริษัทเอกชนและสูงกว่าราคาตลาด     ราคาที่สูงเกินปกตินั้นมักจะกระจายกันไปในหมู่ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อ   ซึ่งแน่นอน  รวมถึงนักการเมืองที่ควบคุมกิจการด้วย    และส่วนหลังนี้   ในบางครั้งเป็นรายการที่ใหญ่ที่สุด   การซื้อของแพงนี้   ทำให้ผลตอบแทนการลงทุนน้อยลง   หรือบางครั้งก็ทำให้บริษัทได้ทรัพย์สินที่มีคุณภาพด้อยกว่าปกติ  ก่อให้เกิดปัญหาในการผลิตหรือให้บริการได้

ข้อสาม  ผู้บริหารระดับสูงของรัฐวิสาหกิจนั้น   จำนวนมาก   มีคุณสมบัติหรือความสามารถที่ต่ำกว่าผู้บริหารบริษัทเอกชนที่บริหารกิจการที่มีขนาดระดับเดียวกัน    สิ่งนี้เกิดขึ้นเนื่องจากเงินเดือนของรัฐวิสาหกิจโดยเฉพาะในระดับผู้บริหารระดับสูงมักจะต่ำกว่าบริษัทเอกชน    อีกส่วนหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือ   ผู้บริหารเองมักไม่มีแรงจูงใจในการที่จะบริหารกิจการให้เป็นเลิศ    เพราะความก้าวหน้าของตนเองนั้น    อาจจะอยู่ที่การ  ดูแลผู้ที่ควบคุมตนเองมากกว่า   และผู้ควบคุมเองนั้น    ส่วนใหญ่ก็มักจะเข้ามาและออกไปภายในเวลาอันสั้น   จึงมักจะไม่คิดถึงการพัฒนากิจการซึ่งเป็นเรื่องระยะยาว   พวกเขามักคิดแต่ว่า   รัฐวิสาหกิจนั้นจะทำหรือให้อะไรเขาได้ในช่วงเวลาที่เขามีอำนาจอยู่

ข้อสี่ ซึ่งคงไม่ใช่ข้อสุดท้ายก็คือ  รัฐวิสาหกิจหลายแห่งนั้น   เป็นเครื่องมือของรัฐในการดำเนินนโยบายทางการเมือง   ดังนั้น  ในหลาย ๆ  ครั้ง  รัฐวิสาหกิจต้องทำธุรกิจแบบ  ขาดทุน  ซึ่งไม่สอดคล้องกับเป้าหมายทางธุรกิจที่ต้องเน้นการทำกำไร  ไม่ว่าจะเป็นกำไรสูงสุดหรือกำไรที่เหมาะสม

ผมพูดถึงข้อเสียหรือข้อด้อยของหุ้นรัฐวิสาหกิจมาค่อนข้างมาก   ลองมาดูข้อดีบ้าง   และข้อดีหรือจุดเด่น
ข้อแรกและมักจะเป็นจุดที่ดีที่สุดที่ลบล้างข้อด้อยทั้งหลายได้ก็คือ   รัฐวิสาหกิจส่วนใหญ่มีอำนาจการผูกขาดทางธุรกิจสูง   แน่นอน  ไม่ใช่ผูกขาดร้อยเปอร์เซ็นต์   แต่เป็นความได้เปรียบที่มีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับกิจการเอกชน    การผูกขาดหมายถึงการมีอำนาจในการกำหนดราคาสินค้าและบริการสูงกว่าราคาที่ควรเป็น   และนี่ทำให้รัฐวิสาหกิจมีกำไรค่อนข้างดีแม้ว่าต้นทุนจะสูงกว่าระดับปกติ   ประสิทธิภาพในการดำเนินการจะต่ำกว่า  และการบริหารงานก็ไม่ต้องมีความคิดสร้างสรรค์มากนัก
ข้อสองก็คือ  ระบบบัญชีและการรายงานทางบัญชีของรัฐวิสาหกิจนั้น   น่าจะได้มาตรฐาน  และการตบแต่งบัญชีในลักษณะที่อาจเป็นการฉ้อฉลไม่น่าจะมี    สาเหตุสำคัญก็คือ  ผู้บริหารไม่มีแรงจูงใจที่จะทำ    เพราะนั่นอาจจะเข้าข่ายเป็นความผิดที่ร้ายแรงตามกฎหมายรัฐวิสาหกิจ   ขณะที่ผลตอบแทนจากการทำแบบนั้นมีน้อยมาก

ข้อสามก็คือ   เนื่องจากรัฐวิสาหกิจเป็นหุ้นของกิจการที่ถูกตั้งขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์สาธารณะเช่นเดียวกับหรือมากกว่าเพื่อการทำกำไร    ดังนั้น  รัฐบาลจึงมักจะไม่ขายหุ้นออกมาไม่ว่าราคาหุ้นจะเป็นอย่างไร   ในบางกรณีที่ต้องการขายหุ้น   รัฐบาลก็มักจะขายเป็นล็อตใหญ่ให้กับผู้ถือหุ้นสถาบัน  โอกาสที่หุ้นจะถูกทยอยขายในตลาดแทบไม่มี    เช่นเดียวกัน  รัฐบาลก็ไม่เคยซื้อหุ้นในตลาด    สิ่งนี้ประกอบกับการที่หุ้นมักมีขนาดใหญ่   ทำให้การบิดเบือนของราคาหุ้นโดยการซื้อขายของเจ้าของหรือรายใหญ่มีน้อยมาก  ดังนั้น  การที่เราจะ  ถูกหลอก  จากราคาหุ้นแทบไม่มี

สุดท้ายที่ผมจะพูดถึงก็คือ  หุ้นรัฐวิสาหกิจมักจะมีอัตราการจ่ายปันผลจากผลกำไรค่อนข้างยุติธรรมและดี   นี่เป็นเพราะกระทรวงการคลังต้องการเม็ดเงินจากรัฐวิสาหกิจมาใช้จ่าย   เนื่องจากรายรับจากปันผลนั้นเป็นรายได้ที่สำคัญ   ดังนั้น  ผู้ถือหุ้นรายย่อยก็มักจะได้รับอานิสงค์ในส่วนนี้ด้วย

ทั้งหมดนั้นก็เป็นเพียงบางส่วนของ  ข้อดี- ข้อเสีย  ของหุ้นรัฐวิสาหกิจที่  Value Investor จะต้องเข้าใจถ้าสนใจจะลงทุน   อย่าคิดแต่เพียงว่ารัฐวิสาหกิจรายนี้   มีการบริหารงานที่ไม่ดีและไม่โปร่งใส   ดังนั้นเราควรหลีกเลี่ยง   ในขณะที่อีกแห่งหนึ่ง  บริหารได้ดี  มีกำไรสูง   เราควรลงทุน    นี่อาจจะเป็นความเข้าใจผิด   ข้อเท็จจริงอาจเป็นว่า   บริหารไม่ดีทั้งคู่เนื่องจากเรื่องของโครงสร้างอย่างที่กล่าวแล้ว   แต่แห่งแรกนั้นมีการผูกขาดทางธุรกิจน้อยกว่า    บางคนบอกว่าถ้ารัฐวิสาหกิจนี้  บริหารงานดีขึ้นแล้วอาจจะซื้อหุ้น   ความเป็นจริงก็คือ  อย่าหวังว่าจะบริหารดีขึ้น   นี่เป็นเรื่องของโครงสร้าง   แก้ยากมาก   ต้องคิดว่า  บริหารแบบนี้แหละ   กำไรก็คงเท่านี้หรืออนาคตก็คงเท่านั้น    หุ้นถูกน่าสนใจเพียงพอไหม?             

10  กุมภาพันธ์  2552

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น