วันศุกร์ที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2555

หุ้นหลังรัฐบาลใหม่



การเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึงในครั้งนี้ผมคิดว่าเป็นการเลือกตั้งที่น่าจับตามองมาก สาเหตุก็เพราะประการแรก มันเป็นการแข่งขันกันแบบเอาเป็นเอาตายเพื่อจะได้จัดตั้งรัฐบาล ดังนั้นทั้งสองฝ่ายต่างก็ทุ่มเทและเสนอนโยบายที่จะเอาใจผู้ลงคะแนนส่วนใหญ่ของประเทศ ประการที่สองก็คือ นโยบายที่นำเสนอโดยพรรคการเมืองใหญ่ทั้งสองฝ่ายนั้น เป็นนโยบายที่อาจจะมีผลกระทบนอกจากกับประชาชนทั่วไปแล้ว มันยังจะมีผลกระทบไปถึงธุรกิจต่าง ๆ เป็นการทั่วไปอย่างมีนัยสำคัญขนาดที่เรียกว่าอาจจะเปลี่ยนแปลง โครงสร้างทางเศรษฐกิจหรือการทำธุรกิจของประเทศไทย และประการสุดท้าย มันอาจจะเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจหรือความน่าสนใจของหุ้นในตลาดหลักทรัพย์แต่ละกลุ่ม มาดูกันว่าเป็นอย่างไร

การเลือกตั้งครั้งนี้มีการเสนอนโยบายที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรมอย่างยิ่งในแง่ที่ว่า ถ้าคุณเลือกเราแล้ว คุณจะได้อะไร&rdquo สิ่งที่จะได้ไม่ใช่แค่นโยบายกว้าง ๆ อย่างที่เคยเป็นมา แต่เป็นสิ่งที่ชัดเจนและบอกเป็นตัวเลขได้ในหลาย ๆ ด้าน ผมคงไม่พูดถึงนโยบายทั้งหมดแต่จะพูดเฉพาะเรื่องที่ผมคิดว่าจะมีผลกระทบรุนแรงและน่าจะเกิดได้ทันทีหรือในเวลาอันสั้นมากนั่นคือนโยบายเกี่ยวกับค่าแรงขั้นต่ำ และนโยบายอัตราภาษีนิติบุคคล เพราะนี่คือนโยบายที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจโดยตรง และนโยบายการ รับประกันราคาสินค้าเกษตรหลัก ๆ เช่นข้าว เป็นต้น ซึ่งจะช่วยเพิ่มรายได้ให้กับคนจำนวนมากที่เป็นเกษตรกร

ถ้าหากมีการดำเนินนโยบายตามที่ประกาศจริงหลังจากที่ได้มีการจัดตั้งรัฐบาลไม่ว่าจะเป็นพรรคไหน ดูเหมือนว่าสิ่งที่ค่อนข้างแน่นอนก็คือ จะมีการปรับอัตราค่าแรงงานขั้นต่ำเพิ่มขึ้นมากซึ่งนี่ก็น่าจะกระทบไปถึงแรงงานในระดับอื่นด้วยที่จะต้องเพิ่มขึ้นไม่มากก็น้อย ผลก็คือ คนงานซึ่งมีอยู่จำนวนมากจะมีรายได้เพิ่มขึ้นมาก เช่นเดียวกัน การประกันราคาพืชผลก็จะส่งผลให้เกษตรกรจำนวนมากมีรายได้เพิ่มขึ้นค่อนข้างมากเช่นเดียวกัน นี่จะส่งผลให้ผู้ใช้แรงงานและเกษตรกรที่เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้นมากทันที เงินที่มากขึ้นนี้จะถูกนำมาใช้จ่ายซื้อสินค้าทำให้การบริโภคภายในประเทศเฟื่องฟูขึ้นมาก และสิ่งที่จะตามมาก็คือ อัตราเงินเฟ้อก็น่าจะสูงขึ้นพอสมควรทีเดียว อย่างไรก็ตามเงินเฟ้อนี้ก็ไม่น่าจะสูงเกินกว่าค่าแรงที่ได้เพิ่มขึ้น ผลก็คือ คนที่มีรายได้น้อยและเป็นคนส่วนใหญ่ในประเทศน่าจะได้ประโยชน์ ความมั่งคั่งของพวกเขาเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
หันกลับมาดูธุรกิจและผู้ประกอบการทั้งหลายก็จะพบว่า ต้นทุนของสินค้าและบริการของเขาจะเพิ่มขึ้น มากหรือน้อยขึ้นอยู่กับปริมาณแรงงานที่พวกเขาต้องใช้ โดยทั่วไป สัดส่วนต้นทุนแรงงานของธุรกิจขนาดเล็กจะสูงกว่าธุรกิจขนาดใหญ่ สัดส่วนการใช้แรงงานของธุรกิจที่ใช้เท็คโนโลยีต่ำก็จะสูงกว่าอุตสาหกรรมที่ใช้เท็คโนโลยีสูง ดังนั้น ธุรกิจขนาดเล็กและธุรกิจที่ใช้เท็คโนโลยีต่ำก็จะถูกกระทบรุนแรงเพราะจะมีต้นทุนการผลิตสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

ถ้าหากว่าธุรกิจมีการแข่งขันหรือขายสินค้าหรือบริการภายในประเทศเป็นหลักและสินค้าหรือบริการจากต่างประเทศไม่สามารถเข้ามาแข่งขันได้อย่างจริง ๆ จัง แบบนี้ธุรกิจก็อาจจะไม่ถูกกระทบมาก เพราะเมื่อต้นทุนของธุรกิจสูงขึ้นพอ ๆ กันทุกราย พวกเขาก็สามารถส่งผ่านต้นทุนที่เพิ่มขึ้นไปยังผู้ซื้อสินค้าหรือใช้บริการ ผลก็คือ พวกเขาก็น่าจะยังสามารถทำกำไรได้ต่อไป ธุรกิจที่ส่งออกสินค้าไปขายยังต่างประเทศนั้น ถึงแม้ต้นทุนค่าแรงจะเพิ่มขึ้นมาก พวกเขาก็ไม่สามารถส่งผ่านต้นทุนไปยังผู้ซื้อในต่างประเทศได้ เพราะคู่แข่งของพวกเขาที่อยู่ในประเทศอื่นนั้น ไม่ได้มีต้นทุนแรงงานที่เพิ่มขึ้น ดังนั้น ผู้ส่งออกน่าจะมีกำไรน้อยลงหรือบางรายอาจจะขาดทุนและไม่สามารถส่งออกสินค้าได้ต่อไป ดังนั้น สิ่งที่แน่ชัดก็คือ การส่งออกของประเทศน่าจะชะลอตัวลง กำไรของบริษัทส่งออกน่าจะน้อยลง ความมั่งคั่งของผู้ส่งออกน่าจะลดลง ผู้ส่งออกเป็นผู้ที่เสียประโยชน์อย่างชัดเจน

ธุรกิจที่เน้นขายให้กับผู้บริโภคภายในประเทศนั้น บอกไม่ได้ชัดว่าเสียประโยชน์จากนโยบายเพิ่มค่าแรงและเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร เพราะถึงแม้ค่าแรงซึ่งเป็นต้นทุนการผลิตจะเพิ่มขึ้น หลาย ๆ ธุรกิจก็สามารถเพิ่มราคาขายสินค้าและบริการได้ นอกจากนั้น การที่ประชาชนมีรายได้มากขึ้นก็ทำให้พวกเขามีการซื้อมากขึ้น รายได้ของธุรกิจก็สูงขึ้น นี่ประกอบกับอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นก็ส่งผลให้ราคาสินค้าเพิ่มขึ้นซึ่งก็ทำให้ธุรกิจขายสินค้าและมียอดขายสูงขึ้นตามอัตราเงินเฟ้อด้วย นอกจากรายได้ที่เพิ่มขึ้นแล้ว หากว่ารัฐบาลลดอัตราภาษีนิติบุคคลลง ต้นทุนทางด้านภาษีก็ลดลง เมื่อประกอบกับรายได้ที่เพิ่มขึ้น  กำไรของบริษัทก็อาจจะไม่ลดลง หรือบางทีอาจจะดีขึ้นด้วย ดังนั้น สำหรับผู้ที่ขายสินค้าหรือให้บริการภายในประเทศแล้ว พวกเขาอาจจะไม่เสียประโยชน์ หลายบริษัทอาจได้ประโยชน์ด้วยซ้ำ

หากว่าอัตราการเพิ่มของค่าแรงสูงมากพอ ผลกระทบรุนแรงพอ เราก็อาจจะได้เห็นธุรกิจโดยเฉพาะที่เป็นผู้ส่งออกบางรายอยู่ไม่ได้เพราะสินค้าที่เคยผลิตไม่สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก การส่งออกที่เคยเป็น เครื่องยนต์หลัก&rdquo ในการผลักดันการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศจะมีบทบาทน้อยลง เราจะไม่ได้เห็นการส่งออกที่โตเอา ๆ ต่อเนื่องมาเป็นสิบ ๆ ปีอีกต่อไป ในอีกด้านหนึ่ง การบริโภคภายในประเทศจะเข้ามามีบทบาทในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น ในภาพใหญ่ของประเทศ การกระจายความมั่งคั่งของคนไทยก็จะดีขึ้นเพราะประชาชนทั่วไปจะมีรายได้มากขึ้น ในขณะที่ผู้ส่งออกและผู้ประกอบการจำนวนไม่น้อยอาจจะมีรายได้น้อยลง ดังนั้น ถ้าเป็นแบบนี้ผมคิดว่านโยบายที่เสนอมาก็ไม่น่ามีปัญหาอะไรมากและน่าจะเป็นผลดี

ประเด็นปัญหาก็คือ ถ้าหากการเพิ่มค่าแรงและรายได้ให้กับผู้มีรายได้น้อยนั้นสูงเกินกว่าที่ควรจะเป็นมากเมื่อเทียบกับผลิตภาพในการผลิตและธุรกิจและแรงงานไม่สามารถปรับตัวได้ ผลที่จะเกิดขึ้นก็อาจจะน่ากลัวและเป็นอันตรายกับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว เหตุผลก็คือ การส่งออกของประเทศก็จะลดลงมาก ธุรกิจก็อาจจะต้องเลิก การจ้างงานอาจจะลดลง คนอาจจะตกงาน รายได้โดยรวมของผู้มีรายได้น้อยก็จะลดลง การบริโภคภายในประเทศก็จะลดลงตาม และดังนั้น แม้แต่ธุรกิจที่เน้นการบริโภคในประเทศเองก็อาจจะมีรายได้น้อยลง การจ้างงานก็อาจจะลดลงไปอีก สุดท้าย การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศก็จะลดลง และเมืองไทยก็อาจจะกลายเป็นประเทศที่ไม่สามารถแข่งขันได้คล้าย ๆ กับประเทศอย่างฟิลิปปินส์ที่มีค่าแรงขั้นต่ำอาจจะสูงแต่คนไม่มีงานทำ

ผมคงไม่กล้าเดาว่าประเทศไทยหลังจากมีรัฐบาลใหม่เศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร แต่ในด้านของหุ้นนั้น ในขั้นนี้เพื่อความปลอดภัย ผมคงพยายามที่จะเลือกหุ้นลงทุนที่จะปลอดภัยถ้ามีการดำเนินการตามนโยบายดังกล่าว และอาจจะพิจารณาหลีกเลี่ยงหุ้นของกิจการที่จะถูกกระทบรุนแรง อย่างไรก็ตาม โดยส่วนตัวแล้วผมก็คิดว่า บริษัทจดทะเบียนในตลาดดูเหมือนว่าจะถูกกระทบน้อยกว่าบริษัทขนาดเล็กและบริษัทผู้ส่งออกที่ส่วนใหญ่อยู่นอกตลาดหุ้น  
     
13  มิถุนายน  2554

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น