วันจันทร์ที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2555

สัญญาณแห่งคุณค่า



ในการค้นหาว่าหุ้นตัวไหนจะมี Value หรือมีคุณค่า  หรือมีคุณค่ามากขึ้นนั้น  นอกจากกำไรที่ควรจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ แล้ว  ต่อไปนี้คือสัญญาณบางอย่างที่จะช่วยบอกเราว่าหุ้นตัวนั้นจะเป็นหุ้น Value ที่น่าสนใจในอนาคตและเป็นหุ้นที่เราควรพิจารณาลงทุน

สัญญาณแรกก็คือ  Market Share หรือส่วนแบ่งทางการตลาดของสินค้าของบริษัทเพิ่มขึ้นและเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ   นี้เป็นสัญญาณที่ดีมาก  เนื่องจากมันบอกว่าความสามารถในการแข่งขันของบริษัทกำลังเพิ่มขึ้น  และการได้หรือมีธุรกิจมากขึ้นมักจะก่อให้เกิดความได้เปรียบในแง่ของต้นทุนการผลิตและการขายของสินค้าต่อหน่วยซึ่งจะลดลง  และนั่นก็จะทำให้ได้เปรียบในการแข่งขันมากขึ้นไปอีก  ก่อให้เกิด วงจรแห่งความรุ่งเรืองต่อเนื่องไปเรื่อย ๆ 

สัญญาณข้อที่สองก็คือ  บริษัทสามารถควบคุมราคาขายของสินค้าของบริษัทได้ดี  นั่นก็คือ  บริษัทสามารถกำหนดหรือควบคุมราคาขายสินค้าของบริษัทได้ในระดับที่มีเหตุผล  คือมีกำไรที่เพียงพอ  นี่เป็น Value หรือคุณค่าของกิจการ  ถ้าเราพบว่ากิจการไม่สามารถควบคุมราคาขายได้เช่นกิจการที่ขายสินค้าโภคภัณฑ์  หรือกิจการที่มีการแข่งขันกันรุนแรงมาก  แบบนี้เป็นสัญญาณว่ากิจการมีคุณค่าน้อย

สัญญาณที่สามคือ  ลูกค้ามีความภักดีต่อสินค้าหรือยี่ห้อของบริษัท  ถ้าพบว่าลูกค้ามีความภักดีมาก  ไม่เปลี่ยนไปใช้สินค้าหรือบริการของคู่แข่งง่าย ๆ  แบบนี้ก็ถือว่าเป็น  Value ที่มีคุณค่า  ตรงกันข้าม  ถ้าลูกค้ามักจะเปลี่ยนไปซื้อสินค้าหรือบริการจากคู่แข่งอยู่เรื่อย ๆ  ด้วยเหตุผลสารพัดเช่นเวลาที่มีโปรโมชั่นพิเศษ หรือมีสินค้าหรือบริการใหม่ที่แตกต่างจากเดิมเพียงเล็กน้อย  แบบนี้ต้องถือว่าบริษัทไม่ค่อยมี Value เท่าไรนัก

สัญญาณที่สี่ก็คือ  Profit Margin  หรือเปอร์เซ็นต์กำไรเมื่อเทียบกับยอดขายของบริษัทเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ   นี่เป็นสัญญาณที่ต้องมองย้อนหลังไปหลาย ๆ  ไตรมาศหรืออาจจะหลายปี  ถ้าพบว่า Margin ค่อย ๆ  เพิ่มขึ้นเช่น  จากเดิมกำไรต่อยอดขายเป็น 3 เปอร์เซ็นต์  ปีต่อมาเป็น 3.2  ปีที่สามเป็น 3.4  ปีที่สี่เป็น 3.5  ปีที่ห้าเป็น  3.6  แบบนี้แปลว่าบริษัทสามารถทำกำไรต่อยอดขายเพิ่มขึ้นซึ่งอาจจะมาจากสาเหตุหลายอย่างเช่น  บริษัทสามารถขายสินค้าในราคาแพงขึ้นหรือสามารถลดต้นทุนลงไปเรื่อย ๆ  ซึ่งถือว่าเป็น Value หรือคุณค่าที่ดีมาก

สัญญาณข้อห้า  Return On Equity (ROE)  หรือ ผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้นค่อนข้างสูงและสม่ำเสมอหรือเพิ่มขึ้น   ตัวเลขที่จะแสดงถึง Value หรือคุณค่านั้นผมคิดว่าน่าจะต้องไม่ต่ำกว่า 14-15%  ต่อปี  ยิ่งสูงก็ถือว่ามี Value มากขึ้นเท่านั้น  แต่นี่ก็ต้องหมายถึงว่าบริษัทไม่ได้กู้หนี้มากเกินกว่าที่ควรเป็นซึ่งก็คือควรจะมีหนี้ไม่เกิน 4-5 เท่าของกำไรต่อปี  ยกเว้นกิจการที่มีรายได้และกำไรค่อนข้างแน่นอนเช่นพวกกิจการสาธารณูปโภคที่อาจจะยอมให้มีหนี้มากกว่านั้นได้  เรื่องของ ROE นั้น  ผมคิดว่าแทบจะบอกได้เลยว่าถ้ากิจการไหนมี ROE ต่ำมากเช่นต่ำกว่า 10% ต่อปีอย่างต่อเนื่องยาวนาน  แบบนี้ต้องบอกว่าหุ้นไม่ค่อยมี  Value เท่าไร

สัญญาณข้อที่หก เป็นกิจการที่สร้างกระแสเงินสดดี  ไม่ใช่กิจการที่ต้องลงทุนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ  หรือเป็นกิจการที่ต้องใช้เงินเพื่อบำรุงรักษาเครื่องจักร อุปกรณ์ค่อนข้างมากและตลอดเวลา  ยิ่งกิจการที่ขยายตัวได้โดยแทบจะไม่ต้องลงทุนเพิ่มก็ต้องถือว่าเป็นกิจการที่มีคุณค่าสูง  เพราะกิจการแบบนี้เมื่อมีกำไรก็มักจะสามารถจ่ายปันผลได้ในอัตราที่สูง   นอกจากนั้น  กิจการเหล่านี้เมื่อเวลาผ่านไปก็มักจะกลายเป็นกิจการที่  ปลอดหนี้เงินกู้จากสถาบันการเงินซึ่งทำให้ความเสี่ยงของบริษัทลดลงมาก

สัญญาณสุดท้ายที่ผมจะพูดถึงก็คือ  เรื่องของผู้บริหาร  คุณค่าของกิจการนั้นขึ้นอยู่กับตัวผู้บริหารค่อนข้างมาก  ผู้บริหารที่มีความโปร่งใส  เปิดเผยหรือเปิดตัวต่อสาธารณชนไม่แอบอยู่ใน มุมมืด  ผู้บริหารที่มีความซื่อสัตย์สุจริต  ผู้บริหารที่ทำอะไรมีเหตุมีผล  ผู้บริหารที่ตัดสินใจอะไรก็คำนึงถึงผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้น  และที่สำคัญ  ผู้บริหารที่จัดสรรผลกำไรอย่างเหมาะสม  นั่นคือ  จ่ายปันผลให้กับผู้ถือหุ้นอย่างยุติธรรม  เหล่านี้เป็นคุณค่าของบริษัท  ตรงกันข้าม  ผู้บริหารที่เก็บตัวไม่ยอมให้ข่าวสารกับผู้ถือหุ้น  เวลาจัดสรรผลกำไรของกิจการนั้นมองดูไม่สมเหตุสมผล  หรือเป็นคนที่เข้าใจได้ยากเวลาตัดสินใจทำอะไรเกี่ยวกับบริษัท  แบบนี้เป็นสัญลักษณ์ของความไม่มีคุณค่า

การมองหา คุณค่านั้น  ยังมีสัญญาณอื่น ๆ  อีกมาก  ที่กล่าวมานั้นเป็นเพียงบางส่วนที่สำคัญและเป็นเรื่องทั่วไปที่ใช้ได้กับทุกกิจการหรือทุกอุตสาหกรรม  นักลงทุนที่มุ่งมั่นและศึกษาบริษัทที่จะลงทุนจะต้องคิดอย่างละเอียดขึ้นว่าหุ้นที่ตนเองสนใจนั้น  มีคุณค่าหรือ  ด้อยคุณค่าอย่างอื่นที่สำคัญหรือไม่เพื่อที่จะได้วิเคราะห์อย่างถูกต้องว่าหุ้นของตนเองนั้น  มี  Value หรือกำลังมี Value เพิ่มขึ้นมากน้อยแค่ไหน

สรุปก็คือ  ในการวิเคราะห์ในแบบของ Value Investment นั้น  เราจะต้องมองหาคุณค่าของบริษัท  ยิ่งบริษัทมีคุณค่าสูงหรือกำลังมีคุณค่าสูงขึ้น  นั่นก็เป็นสิ่งที่ดี  เพราะคุณค่านั้นในไม่ช้าก็จะแปลงออกมาเป็นราคาหุ้นที่สูงขึ้น  ตรงกันข้าม  ถ้าเราพบว่า Value ของกิจการกำลังลดลง  แม้ว่าตัวเลขผลประกอบการจะยังดูดีอยู่  แต่ในที่สุด  ผลประกอบการก็จะตกต่ำลงตามคุณค่าที่ลดลง  และราคาหุ้นก็จะลดลงตามมา      

9  มิถุนายน  2553

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น