วันจันทร์ที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2555

Investment Diary



นักลงทุนนั้น  ว่ากันว่าเป็นคนที่มีความทรงจำสั้นมาก  เหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นเขาจะจำได้ติดตา  เช่น  วิกฤติที่ทำให้ตลาดหุ้นตกต่ำอย่างหนักและเหตุผลที่ทำให้เกิดวิกฤตินั้น  เมื่อเวลาผ่านไป  บางทีก็ไม่นานนัก  พวกเขาก็จะลืมเหตุการณ์เลวร้ายนั้นรวมถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดขึ้น  พวกเขาซื้อขายหุ้นโดยไม่สนใจประวัติศาสตร์หรือสนใจน้อยมาก  นั่นทำให้ประวัติศาสตร์การเงิน  ซ้ำรอย  ครั้งแล้วครั้งเล่า  เราไม่เคยเรียนรู้จากประวัติศาสตร์โดยเฉพาะเมื่อมันผ่านไปนานแล้ว

เพื่อที่จะเรียนรู้จากความผิดพลาด ในอดีต  เราจำเป็นที่จะต้องรู้ว่ามันเกิดความผิดพลาดขึ้น  ในเรื่องอื่น ๆ  นั้น   ความผิดพลาดเป็นเรื่องที่เรามักจะมองเห็นได้อย่างชัดเจน  แต่ในเรื่องของการลงทุนนั้น  บางทีเราก็ไม่รู้ว่ามันมีความผิดพลาดขึ้น  เหตุผลก็คือ  มีจิตวิทยาบางอย่างที่อาจจะบดบังความเข้าใจที่ถูกต้องของเรา

จิตวิทยาข้อแรกก็คือ  ดีเป็นเพราะฝีมือเรา แย่เป็นเพราะคนอื่นหรือเรื่องอื่น   หรือที่เรียกว่า  Self-Attribution Bias นี่เป็นจิตวิทยาของมนุษย์ทั่ว ๆ  ไป   อย่างเช่นเวลาที่เราเล่นกีฬา  ทีมที่ชนะส่วนใหญ่ก็จะบอกว่าเป็นเพราะฝีมือของทีม  แต่เวลาแพ้  บางทีก็โทษกรรมการหรือโทษโชคชะตา  ทั้ง ๆ  ที่ข้อเท็จจริงก็คือ  ฝีมือสู้เขาไม่ได้หรือใช้กลยุทธ์ในการแข่งขันที่ผิดพลาด  เช่นเดียวกัน  เวลาที่เราลงทุนและได้กำไรดีนั้น  เรามักจะคิดว่าเป็นฝีมือของเรา   แต่เวลาขาดทุน  บางครั้งเราก็คิดว่ามันเป็นสาเหตุอื่นหรือโชคร้ายหรือเหตุบังเอิญที่เราไม่ อาจคาดได้   การไม่ยอมรับความผิดพลาดของตนเองนั้น  ย่อมทำให้เราไม่สามารถปรับปรุงแก้ไขข้อบกพร่องนั้นได้

จิตวิทยาข้อสองก็คือสิ่งที่ผมอยาก จะใช้สำนวนว่า  ผมว่าแล้ว  นี่คือสิ่งที่คนเราเห็นผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นก่อนที่จะกลับไปอธิบายเหตุผลที่ ทำให้มันเกิดขึ้นหรือที่เรียกในทางวิชาการว่า  Hindsight Bias  นี่เป็นความลำเอียงของจิตใจที่คิดว่าเรา แน่  เรารู้ว่าอะไรเป็นอะไรทั้งที่เราไม่รู้และเราไม่ได้คิดคาดการณ์เอาไว้ก่อน   เรามา รู้  ก็ตอนที่เราเห็นแล้วว่าอะไรมันเกิดขึ้น    วิธีที่จะแก้ปัญหาความลำเอียงข้อนี้ก็คือ  การจดบันทึกสิ่งที่เราคิดหรือคาดการณ์ไว้ก่อน  เมื่อเกิดผลลัพธ์ขึ้น  เราก็จะได้รู้ว่าเราคิดถูกหรือคิดผิด   ในกรณีของการลงทุนนั้น  เราจะเรียกมันว่า  Investment Diary  นี่ก็คือไดอารี่ที่เราจะจดบันทึกเกี่ยวกับความคิดหรือการวิเคราะห์ของเราใน การลงทุนในหุ้นหรืออื่น ๆ   การซื้อหุ้นแต่ละตัวเราจะบันทึกว่าอะไรคือเหตุผลที่เราซื้อหุ้นตัวนั้น

เมื่อเราจดบันทึกเหตุผลของการลง ทุนในหุ้นหรือหลักทรัพย์ตัวไหนแล้ว  เราก็รอผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น  ภาพที่ออกมานั้น  สามารถที่จะแบ่งออกได้เป็นสี่แบบด้วยกันดังต่อไปนี้

แบบที่หนึ่ง  ในกรณีที่เราได้กำไร  การลงทุนประสบความสำเร็จ  และเหตุผลที่เราใช้ในการตัดสินใจลงทุนถูกต้อง   เช่น  เราลงทุนในหุ้น ก. เพราะเราเชื่อว่ากำไรของบริษัทนี้กำลังเติบโตก้าวกระโดดในไตรมาศหน้าและจะ เติบโตต่อไปอีกไม่น้อยกว่า 3-4 ปี โดยที่ราคาหุ้นที่เห็นนั้นยังไม่ได้ปรับตัวขึ้นสอดคล้องกับพื้นฐานที่กำลัง ดีขึ้นและราคายังต่ำกว่าที่ควรจะเป็นมาก  เราก็จดบันทึกไว้  หลังจากนั้น  เมื่อกำไรในไตรมาศถูกประกาศออกมาก็เป็นจริงดังคาดและดูแล้วอนาคตก็น่าจะยัง โตต่อเนื่อง  ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นไปในระดับหนึ่งประมาณ 20%  ซึ่งสอดคล้องกับกำไรที่ดีขึ้น  ถ้าเป็นแบบนี้  เราอาจจะสรุปได้ว่าสิ่งที่เราคิดนั้นถูกต้องแล้ว   อย่างไรก็ตาม  เรายังไม่ขายหุ้นออกไปเพราะเราเชื่อว่ากำไรจะยังเติบโตดีมากอยู่และในอนาคต ราคาก็จะยังปรับตัวขึ้นไปได้อีกมาก  ในภาษาของนักลงทุน  เรา  “Right for the right reason”  เราถูกต้อง  นั่นอาจจะหมายความว่าเรามีฝีมือ

แบบที่สอง  ในกรณีที่เราได้กำไร  การลงทุนประสบความสำเร็จ  แต่เหตุผลที่เราใช้ในการตัดสินใจนั้นกลับไม่ถูกต้อง  เช่น  เราลงทุนในหุ้น ข. เพราะเราคิดว่ากำไรในไตรมาศหน้าจะดีมาก  เวลาผ่านไปสักระยะหนึ่งบริษัทได้ประกาศแจกวอแร้นต์ฟรีจำนวนมาก  ราคาหุ้นวิ่งขึ้นไปอย่างแรง  เราขายหุ้นทิ้งได้กำไรงดงาม  อย่างไรก็ตาม  งบรายไตรมาศที่ประกาศออกมาภายหลังพบว่ากำไรของบริษัทลดลงมาก  แบบนี้เราเรียกว่า  “Right for the wrong reason”  เราซื้อหุ้นถูกตัวด้วยเหตุผลที่ผิด  พูดง่าย ๆ เราประสบความสำเร็จเพราะโชคไม่ใช่ฝีมือ  อย่าหลอกตัวเองว่าตนเองเก่ง

แบบที่สาม  ในกรณีที่เราขาดทุน  การลงทุนไม่ประสบความสำเร็จ  เหตุผลในการลงทุนของเราผิด  เช่น  เราคิดว่าบริษัท ค. กำลังจะมีผลประกอบการที่ดี  เราซื้อหุ้นลงทุน  ผลประกอบการออกมาปรากฏว่าบริษัทขาดทุนอย่างหนัก  ราคาหุ้นตกต่ำลงมามาก   เราขายหุ้นทิ้ง ในกรณีนี้เรียกว่าเรา  “Wrong for the wrong reason”  เราลงทุนผิดเพราะเราวิเคราะห์ผิด  เราจำเป็นต้องเรียนรู้จากความผิดพลาดนี้

แบบที่สี่  ในกรณีที่เราขาดทุน  การลงทุนไม่ประสบความสำเร็จ  แต่เหตุผลที่เราใช้ในการตัดสินใจลงทุนนั้นถูกต้องเป็นไปตามคาด  เช่น  เราซื้อหุ้น ง. เพราะคิดว่ากำไรของบริษัทในไตรมาศที่กำลังมาถึงนั้นจะเติบโตขึ้น  เมื่องบไตรมาศถูกประกาศออกมาปรากฏว่ากำไรของบริษัทก็ปรับเพิ่มขึ้นจริง  อย่างไรก็ตาม  ในช่วงเวลาเดียวกัน  ตลาดหุ้นเกิดภาวะวิกฤติอันเป็นผลมาจากต่างประเทศ  ราคาหุ้น ง. ตกลงอย่างหนัก  เราขาดทุนแต่เป็นเพราะว่าโชคไม่ดี  ไม่ใช่เพราะเราคิดผิด  เรา  “Wrong for the right reason”

ด้วยการบันทึกเหตุผลของการตัดสิน ใจลงทุนลงใน Investment Diary  และศึกษาผลลัพธ์ในสี่กรณีดังกล่าว  เราก็จะได้รู้ว่าเราประสบความสำเร็จหรือล้มเหลวและด้วยเหตุผลใด  เรามีฝีมือหรือเราไม่เก่งเลย  เราโชคดีหรือโชคร้าย  สิ่งนี้จะทำให้เราสามารถเรียนรู้จากประวัติการลงทุนของเราได้อย่างถูกต้อง  โดยส่วนตัวผมเองนั้น  ผมยอมรับว่าไม่เคยจดบันทึกเหตุผลการลงทุนลงในไดอารี่  แต่ก็เชื่อว่าตนเองจำได้ว่าลงทุนในหุ้นแต่ละตัวด้วยเหตุผลใด  ผมคิดว่าผมจำได้เพราะลงทุนในหุ้นไม่กี่ตัว  สำหรับ VI นั้น  ผมคิดว่าการจดบันทึกเป็นสิ่งที่ดี  เหนือสิ่งอื่นใด  จอร์จ โซรอส บอกว่าเขาบันทึกความคิดของเขาแบบ  Real-Time  นั่นคืออาจจะพูดลงในเทป  เขาบอกว่ามันทำให้การลงทุนของเขาดีขึ้นมากอย่างไม่น่าเชื่อ

15  พฤษภาคม  2553

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น