วันอังคารที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2555

อาหารหรือขยะ


คนที่จะเป็น เซียนในวิถีทางแบบ Value Investment นั้น   ดูเหมือนว่าจะต้องเป็นนักอ่านตัวยง  วอเร็น บัฟเฟตต์ เป็นตัวอย่างที่สำคัญ  เพราะเขาอ่านหนังสือมากมายมหาศาลและเป็นคนที่อ่านได้เร็วมาก  นอกจากหนังสือเกี่ยวกับการลงทุนโดยตรงแล้ว  ผมเชื่อว่าเขาอ่านหนังสืออื่น ๆ  อีกมาก  เพราะถ้าจำไม่ผิด  เขาเคยอ่านหนังสือเกี่ยวกับทฤษฎีวิวัฒนาการชื่อดังอย่าง  The Selfish Gene ของ Richard Dawkins   เช่นเดียวกัน  ชาลี มังเกอร์ เพื่อนซี้และหุ้นส่วนของ วอเร็น บัฟเฟตต์เองก็อ่านหนังสือหลากหลายและน่าจะมากกว่า บัฟเฟตต์ ในแง่ของความหลากหลายทางวิชาการอื่น ๆ  เขาบอกว่าการลงทุนนั้น  คุณต้องอาศัยความรอบรู้รอบด้านมากกว่าความรู้ที่เจาะจงเฉพาะอย่าง

การอ่านหนังสือมากนั้น   ผมคิดว่าไม่พอที่จะทำให้เราเป็นนักลงทุนที่ดี  การอ่านที่ได้ประโยชน์และได้ความรู้ที่ถูกต้องแท้จริงต่างหากที่ผมคิดว่า เป็นเรื่องสำคัญ  ดังนั้น  การเลือกอ่านหรือเลือกที่จะเชื่อหรือยอมรับในสิ่งที่เราอ่านจะเป็นหัวใจ สำคัญที่ทำให้เราเก่งขึ้น  รอบรู้ขึ้น   การอ่านในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง  และไม่จริงนั้น  ถ้าดีหน่อยก็ทำให้เราเสียเวลาโดยเปล่าประโยชน์   แต่ถ้าแย่ก็คือ  ทำให้เราเสียหาย  ขาดทุน  และรู้น้อยลง   เปรียบไปก็เหมือนกับการที่สมองเรานั้น   แทนที่จะได้  อาหาร  ก็กลายเป็นได้ ขยะหรือได้ ยาพิษ  และต่อไปนี้ก็คือข่าวสารข้อมูลบางส่วนที่ผมคิดว่าเราควรใส่ใจมากน้อยแค่ไหน  และเราควรเชื่อหรือไม่  เอาเฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวกับหุ้นและการลงทุนโดยตรง

ข้อมูลข่าวสารเรื่องแรกที่เรามักพบเจอเป็นประจำก็คือ  การคาดการณ์ภาวะตลาดหุ้นหรือดัชนีหุ้นในปีนี้หรือปีหน้า   สำหรับผม  นี่เป็น ขยะ  เพราะการคาดการณ์ตลาดหุ้นอย่างถูกต้องหรือใกล้เคียงนั้น  เป็นเรื่องที่ไม่น่าจะมีใครทำได้ดูจากสถิติที่ผ่านมา  เหตุผลก็คือ  ภาวะตลาดหุ้นนั้นขึ้นอยู่กับเหตุการณ์มากมายที่จะเกิดขึ้นในประเทศและในโลก  เหตุการณ์เหล่านั้นมักจะเกิดขึ้นโดย ไม่คาดฝัน  ดังนั้น  ภาวะตลาดหุ้นก็มักจะเป็นไปอย่าง  ไม่คาดฝัน  ก็ใครจะไปคิดว่าปี 2552 ที่ทุกคนคิดว่าจะเป็นปี  เผาจริง  ของภาวะเศรษฐกิจโลกและไทยนั้น   จะกลายเป็น ปีทองที่ทำให้ตลาดหุ้นคึกคักกันทั่วโลก   ด้วยเหตุผลดังกล่าว  เวลาฟังใครคาดการณ์เกี่ยวกับดัชนีตลาดในปีนี้หรือปีหน้า  อย่าไปคิดจริงจังอะไร  พวกเขาต้องคาดเพราะมีคนจำนวนมากอยากฟังเท่านั้น   ไม่ได้แตกต่างอะไรกับหมอดูที่ต้องตอบคำถามของคนที่กำลังสับสนและกังวลกับ ชีวิตในอนาคตของตนเอง

เรื่องของ  “Dr. Doom”  หรือคนที่มาบอกว่า  โลกกำลังจะแตก  ประเทศไทยกำลังวิบัติ  เกิด  กลียุค  ถึงกับล่มสลาย  เหล่านี้  ฟังแล้วก็อย่าไปเชื่อหรือกังวล  เพราะหลายคนที่พูดนั้นก็พูดกันเกือบทุกปี  ไม่ว่าจะอ้างเหตุผลอะไร   ความจริงก็คือโอกาสที่จะเกิดนั้นน่าจะต่ำมาก  เช่นเท่ากับโอกาสที่เราจะเดินออกนอกบ้านแล้วถูกฟ้าผ่าตาย    ถ้าเราก็ยังเดินออกนอกบ้านทุกวันผมก็ไม่เห็นเหตุผลอะไรที่จะยังลงทุนในตลาด หุ้นเป็นปกติ   จำไว้ว่า  ดร. ดูม  นั้นมีอยู่ทุกประเทศ  และก็แน่นอน  นาน ๆ  ก็มี  ดร. ดูม  ที่พยากรณ์ถูกต้อง  ก็คงเป็นอย่างที่พูดกันว่า  แม้แต่นาฬิกาตายก็ยังบอกเวลาได้ถูกต้องวันละหนึ่งครั้ง  ดังนั้น  อย่าสนใจการพยากรณ์แบบ ดร. ดูม  ถ้าไม่แน่ใจในอารมณ์ของตัวเองก็อย่าไปอ่าน  เพราะมันเป็น  ขยะข่าวสาร

เรื่องของเท็คนิคใหม่ ๆ  ในการลงทุนที่จะทำให้ได้ผลตอบแทนที่ดีเยี่ยม  นี่ก็เป็นข้อมูลข่าวสารที่มีการเสนอออกมามากมาย  ส่วนใหญ่ที่เห็นก็เป็นเรื่องของประสบการณ์ของเจ้าตัวที่อ้างว่าสามารถทำกำไร ได้งดงามจากเท็คนิคที่  ค้นพบเอง   เท็คนิคเหล่านั้นเกือบทั้งหมดมักจะไม่มีเหตุผลที่เข้มข้นรองรับแต่ชื่อที่ ใช้เรียกก็มักจะน่าประทับใจชวนให้คิดว่าเป็นเทคนิคที่ตอบโจทย์ที่คนหลายคน กำลังแสวงหาคำตอบอยู่  สำหรับผมแล้ว  เท็คนิคใหม่ ๆ  แปลก ๆ  นั้นเกือบทั้งหมดก็เป็น  ขยะ   มีคนเคยถาม  วอเร็น บัฟเฟตต์ ว่ามีเท็คนิคอะไรพิเศษจึงสามารถสร้างผลงานสุดยอด  เขาบอกว่า  เท็คนิคก็เป็นเรื่องเก่าที่มีคนอื่นโดยเฉพาะ เบน เกรแฮม ได้คิดไว้แล้วทั้งนั้นไม่มีอะไรใหม่  เขาเพียงแต่เอามันมาใช้ได้อย่างถูกต้องเท่านั้น

ข้อมูลอีกเรื่องหนึ่งที่ผมเห็นว่าต้องระวังเวลาอ่านก็คือเรื่องของ  ผลการลงทุน  ของ เซียน  หรือบุคคลกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง   ถ้าเป็นเรื่องของการศึกษาทางวิชาการจริง ๆ  มีตัวเลขข้อมูลที่สนับสนุนชัดเจน  เช่น ผลการลงทุนของกองทุนรวมที่มีข้อมูลเปิดเผยและเป็นตัวเลขจริง  ข้อมูลของบริษัทอย่าง  เบิร์กไชร์ ของ วอเร็น บัฟเฟตต์  หรือการศึกษาทางวิชาการเปรียบเทียบผลตอบแทนของกลยุทธ์แบบ  Value กับ Growth ที่มีเกณฑ์แน่นอนและทำอย่างมาตรฐาน  แบบนี้  เราก็พอเชื่อถือได้  แต่การ อ้างว่าได้ผลตอบแทนเท่านั้นเท่านี้โดยไม่มีข้อมูลที่เชื่อถือได้สนับสนุน  หรือการทำโพล์ทางอินเตอร์เน็ตนั้น  ผมคิดว่าผลลัพธ์ที่ได้ไม่น่าเชื่อถือ  เหตุผลก็คือ  มันจะมี  Bias หรือความลำเอียง  นั่นก็คือ  คนที่ได้ผลตอบแทนดีก็จะมาตอบแบบสอบถามมากกว่าคนที่มีผลงานแย่  คนบางคนก็บอกผลตอบแทนที่อาจจะไม่จริงแต่มีแนวโน้มไปในทางสูงเพื่อที่จะแสดง ว่าตนเองมีความสามารถสูงซึ่งก็เป็นเรื่องของแรงจูงใจของมนุษย์ทุกคน  ดังนั้น  เมื่ออ่านข้อมูลเหล่านั้น  อย่าไปเชื่อ  พูดถึงเรื่องนี้ทำให้ผมนึกถึงสงครามเวียตนามที่ทหารสหรัฐและเวียตนามต่างก็ คุยว่าสังหารศัตรูได้มากมายในการรบทุกครั้ง  แต่มีคนให้ข้อสังเกตว่าถ้าเป็นจริงตามที่ว่า  กองทัพเวียตนามและอเมริกาคงหมดไปนานแล้ว

สุดท้ายก็คือข้อมูลหุ้นรายตัวพร้อมการวิเคราะห์  นี่คือข้อมูลที่มองภายนอกนั้นคือ  อาหาร  แน่  เพราะส่วนใหญ่ก็เป็นเรื่องของข้อมูลตัวเลขที่เป็นจริงพร้อมการวิเคราะห์ตาม ข้อมูลที่มีอยู่  ดังนั้น  คนที่อ่านข่าวสารข้อมูลก็น่าจะได้ความรู้เกี่ยวกับบริษัท  ดูเหมือนว่าจะไม่มีอะไรที่จะเสียหายหรือเสียเวลาได้  อย่างไรก็ตาม  เราก็ควรพิจารณาแรงจูงใจของคนที่นำเสนอข้อมูลนั้นด้วยเพราะคงไม่มีใครยอม เสียเวลานำเสนอข้อมูลให้คนอื่นโดยไม่ได้อะไรตอบแทน  ดังนั้น  เมื่ออ่านข้อมูลแล้วก็ต้องคิดด้วยตนเองว่าข้อมูลที่ปรากฏนั้นสมเหตุผลหรือ ไม่  ราคาหุ้นที่เห็นนั้นคุ้มค่าหรือไม่  ที่สำคัญมีปัจจัยอะไรอื่นไหมที่ทำให้ราคาหุ้นไม่สะท้อนพื้นฐานของกิจการทำ ให้หุ้นมีราคาต่ำกว่าที่ควรเป็น  มิฉะนั้น  การใช้ข้อมูลที่รับมาลงทุนอาจจะกลายเป็นกับดัก   สิ่งที่เราคิดว่าเป็นอาหารอาจจะกลายเป็น เหยื่อล่อ  ที่ทำให้เรา  ติดกับหรือขาดทุนได้


10  มกราคม  2553

ปีทองของตลาดหุ้น


ปี 2552 น่าจะเป็น ปีทองของตลาดหุ้นอีกปีหนึ่ง  เพราะดัชนีตลาดหลักทรัพย์เพิ่มขึ้นจาก 450 จุดเมื่อสิ้นปี 2551 เป็น 735 จุดเมื่อสิ้นปี 2552  หรือเป็นการเพิ่มขึ้นถึง 63%  ปีที่ดัชนีตลาดปรับตัวขึ้นมากกว่านี้มีเพียง 3 ปีคือปี 2520 ที่ตลาดเพิ่มขึ้น 120%   ปี 2536 ที่ตลาดโตขึ้น 88%  และปี 2546 ที่ดัชนีตลาดเพิ่มขึ้น 117%  อย่างไรก็ตาม  การปรับตัวขึ้นอย่างแรงในปี 2552 นั้น  มีความแตกต่างที่สำคัญเมื่อเทียบกับปีทองอื่นก็คือ  ดัชนีตลาดปรับตัวขึ้นหลังจากการตกลงมาอย่างรุนแรงในปีก่อนหน้าคือปี 2551 ซึ่งตลาดติดลบไปถึง  48%   ว่าที่จริงดัชนีตลาดหุ้นเมื่อสิ้นปี 2552 นั้นก็ยังต่ำกว่าดัชนีเมื่อสิ้นปี 2550 ซึ่งดัชนีตลาดหุ้นอยู่ที่ 858 จุด   ดังนั้น  สำหรับนักลงทุนระยะยาวในตลาดหุ้นหลายคนแล้ว  ปี 2552 นั้น  ยังไม่ใช่

ปีทอง  ของการลงทุนอย่างแท้จริง   อาจจะเรียกว่าปีแห่งการ  ฟื้นตัวของการลงทุนมากกว่า  อย่างไรก็ตาม  ผลจากการที่ตลาดปรับตัวขึ้นอย่างแรงหลังจากที่ตลาดหุ้นซบเซามาประมาณ 5-6 ปีนั้น  ทำให้มุมมองของนักลงทุนเปลี่ยนไปพอสมควรโดยผมมีข้อสังเกตดังต่อไปนี้

ข้อแรก  ดัชนีหุ้นที่ปรับตัวขึ้นรวดเร็ว  ประกอบกับการที่อัตราดอกเบี้ยในท้องตลาดต่ำเป็นประวัติการณ์  ทำให้มีนักลงทุนหน้าใหม่เพิ่มขึ้นไม่น้อย  อย่างไรก็ตาม  ผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจและตลาดหุ้นในปีก่อนหน้ายังคง  หลอน  คนทั่วไปและนักลงทุนอยู่   ทำให้การ  เล่นหุ้น  ยังไม่แพร่ไปยังคนทั่วไปที่จะทำให้เกิด  ฟองสบู่ตลาดหุ้นอย่างที่เรามักจะพบในปีทองครั้งก่อน ๆ   ดังนั้น  ปริมาณการซื้อขายหุ้นโดยเฉลี่ยต่อวันในปี 2552 จึงยังไม่สูงนัก

ข้อสอง  ผลตอบแทนที่ได้มาง่ายมากในปี 2552 ทำให้ค่าความคาดหวังของผลตอบแทนจากการลงทุนในตลาดหุ้นของนักลงทุนสูงขึ้น มาก  ดูเหมือนว่านักลงทุนจำนวนมากจะตั้งเป้าผลตอบแทนที่ตนเองจะทำได้ในอนาคตสูง กว่าที่ผมคิดว่าพวกเขาจะทำได้   คร่าว ๆ  ผมคิดว่าพวกเขาคาดหวังที่จะโตหรือได้ผลตอบแทนจากการลงทุนโดยเฉลี่ยปีละ ประมาณ 20-25% ในระยะยาวอย่างน้อย 5-6 ปีข้างหน้า  หลายคนอาจจะมองถึงปีละ 40-50% ด้วยซ้ำ  ซึ่งทั้งหมดนั้น  แน่นอน  บางคนก็อาจจะทำได้จริง  แต่ส่วนใหญ่แล้วผมคิดว่าพวกเขาน่าจะได้ไม่เกิน 10-15%  โดยที่คนที่โดดเด่นมากอาจจะได้ถึง 20%

เหตุผลที่นักลงทุนคิดว่าจะสามารถทำผลตอบแทนได้สูงมากนั้นก็เพราะว่าเขา สามารถทำผลตอบแทนในปี 2552 ได้สูงมาก  บางคนอาจจะได้เป็นร้อยเปอร์เซ็นต์หรือมากกว่านั้น  แม้แต่คนที่ไม่ได้โดดเด่นอะไรก็ได้ผลตอบแทนถึง 60-70%  ตามผลตอบแทนของตลาด   แต่เขาอาจจะไม่รู้หรอกว่านั่นไม่ได้เกิดจากฝีมือ  เป็นแต่เพียงการขึ้นตามตลาด  หรือสำหรับคนที่ได้ผลตอบแทนงดงามก็อาจจะเป็นเรื่องของโชคหรือการเก็งกำไรที่ ถูกต้องในเวลานั้นซึ่งในสถานการณ์อื่นเขาก็อาจจะทำไม่ได้  ในความคิดของผมก็คือ  คนที่คาดการณ์ผลตอบแทนระยะยาวเกินปีละ 15% โดยเฉลี่ยนั้น  น่าจะเป็นนักเก็งกำไรมากกว่าการเป็นนักลงทุน   เหตุผลก็คือ  มีธุรกิจจำนวนน้อยมากที่สามารถโตได้ปีละ 15%  โดยเฉลี่ยอย่างต่อเนื่องยาวนาน  ดังนั้น  ถ้าจะโตเร็วกว่านั้นก็จำเป็นต้องทำการซื้อขายหุ้นค่อนข้างมาก  และนั่นก็เป็นความเสี่ยงที่มีโอกาสชนะไม่สูงนักสำหรับคนทั่วไปที่ไม่ได้มี ความสามารถพิเศษในการเก็งกำไร

ข้อสาม  ข้อมูลจากอดีตที่ผ่านมานั้นบอกว่า  ผลตอบแทนของตลาดหุ้นหลัง ปีทอง  หรือปีที่ตลาดหุ้นให้ผลตอบแทนที่ดีเยี่ยมนั้น  มักจะให้ผลตอบแทนที่น่าผิดหวัง  นี่ก็อาจเป็นเรื่องปกติของอะไรก็ตามที่ขึ้นไปมากและเร็วก็จะมีแนวโน้มชลอตัว ลงกลับสู่ภาวะที่เป็นปกติ  หลายครั้งดัชนีก็ติดลบ  ดังนั้น  ในภาวะที่เราผ่านปีทองมาแล้ว   ผมคิดว่าปีนี้เราควรจะต้องระมัดระวังมากกว่าปกติ  อย่างไรก็ตาม  ปีทองในครั้งนี้  ดัชนีราคาหุ้นปรับตัวขึ้นมาจากพื้นที่ต่ำมาก  และราคาปัจจุบันก็ยังไม่ทำให้ราคาหุ้นแพงนักเห็นได้จากค่า  PE ที่อยู่ที่ประมาณ 13 เท่า  ดังนั้น  การลงทุนในตลาดหุ้นต่อไปก็ถือว่าไม่เสี่ยงเกินไป  แต่ถ้าจะหวังได้ผลตอบแทนที่ดีเหมือนปีก่อนนั้นผมคิดว่าคงหวังได้ยาก

ข้อสี่  สำหรับนักลงทุนหลายคนที่ทำผลตอบแทนได้ดีเยี่ยมในปีที่แล้วและกลายเป็น  ปีทอง  ของการลงทุนของคุณ   นั่นคือ  หนึ่ง  ผลตอบแทนรวมทั้งหมดซึ่งรวมถึงสินทรัพย์สภาพคล่องทั้งหลายเช่นเงินสดและ พันธบัตร  คุณทำได้มากกว่า  63%  ซึ่งเป็นผลตอบแทนของตลาด  สอง  มูลค่าพอร์ตของคุณสูงเป็นประวัติการณ์  และแน่นอน  ต้องสูงกว่ามูลค่าพอร์ตเมื่อสิ้นปี  2550 โดยที่คุณไม่ได้คิดรวมเงินที่คุณลงเพิ่มเติมลงไป   สาม  คุณได้กำไรเป็น  ล้าน  ห้าล้าน  หรือสิบล้าน  ซึ่งเป็นเม็ดเงินที่คุณรู้สึกว่ามันสร้างความแตกต่างให้กับความมั่งคั่งของ คุณอย่างมีนัยสำคัญ   และสุดท้าย  มันอาจจะเป็นปีที่คุณบรรลุเป้าหมายสำคัญของความมั่งคั่งที่คุณฝัน  ไม่ว่ามันจะเป็นปีที่คุณมีเงินเพียงพอที่จะเป็น  อิสรภาพทางการเงิน  หรือเป็นปีที่คุณมีเงินถึง 10  20  หรือแม้แต่  100 ล้านบาท   สิ่งที่คุณจะต้องคิดตระหนักมากที่สุดก็คือ  ทำอย่างไรที่จะสามารถรักษาความมั่งคั่งระดับนั้นไว้ให้ได้  อย่างน้อยก็ในปีนี้

และสุดท้าย  สำหรับนักลงทุนอีกหลายคนที่ปี 2552 ที่ผ่านมายังไม่ใช่  ปีทอง  ของคุณก็จงอย่าเสียใจ   จริงอยู่  การมี  ปีทอง  เป็นครั้งเป็นคราวนั้นเป็นเรื่องที่น่ายินดีแต่ไม่จำเป็นในการที่จะประสบ ความสำเร็จในการลงทุน  การ  คงเส้นคงวา  นั่นคือ  สามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีในระดับ 15-20%  ได้ค่อนข้างสม่ำเสมอต่อเนื่องยาวนานขณะที่สามารถหลีกเลี่ยงหายนะหรือผลตอบ แทนที่ติดลบรุนแรงได้  นี่แหละที่จะสามารถนำคุณไปสู่เป้าหมายและความสำเร็จทางการเงินในระยะยาวได้ โดยที่คุณไม่จำเป็นต้องมีปีทองของการลงทุนเป็นเรื่องเป็นราวเลย 


04  มกราคม  2553

วันอาทิตย์ที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2555

ชายกลางกับครูกุ๊ก


            การเป็น Value Investor ที่ดีนั้น  นอกจากการเรียนรู้และติดตามภาวะเศรษฐกิจและการเมืองแล้ว   เราต้องรู้และเข้าใจกระแสหรือแนวโน้มของสังคมด้วย   ว่าที่จริงสังคมนั้นเป็นพลังสำคัญที่สุดในการกำหนดเรื่องของภาวะและระบบเศรษฐกิจและการเมือง   ดังนั้น   ถ้าเราเข้าใจสังคม  ก็มีแนวโน้มว่าเราจะสามารถพยากรณ์ทิศทางของเศรษฐกิจและการเมืองได้แม่นยำขึ้น   สำหรับผม  การติดตามความเคลื่อนไหวทางสังคมที่ให้ภาพชัดเจนที่สุดก็คือ   การดูหนังดูละครและติดตาม  ข่าวดารา  ที่เดี๋ยวนี้มีหนังสือพิมพ์วางแผงจำหน่ายทุกวัน  เช่นเดียวกับละครที่ออกอากาศวันละหลายเรื่อง

            แนวโน้มของสังคมที่ผมสังเกตเห็นว่าเปลี่ยนไปมากนับย้อนหลังไปสัก 40 ปีก่อนขณะที่ผมยังเป็นวัยรุ่นก็คือสถานะของผู้คนในสังคม  ในสมัยก่อนนั้นสังคมไทยค่อนข้างจะจัดลำดับของคนเป็นชั้น ๆ  ตามลำดับที่อาจจะเรียกว่า  ศักดินาหรือตามตำแหน่งอำนาจที่กำหนดเป็นทางการ  โดยคนที่มีฐานะทางสังคมสูงก็คือคนที่มีอำนาจที่เป็นทางการหรืออำนาจทางวัฒนธรรมสูงและคนที่อยู่ต่ำก็คือคนที่ไม่มีอำนาจที่เป็นทางการหรือทางวัฒนธรรมเลยและมีอาชีพที่ไม่ได้สังกัดบริษัทหรือกิจการขนาดใหญ่   ในสมัยนั้นละครที่ออกอากาศก็มักจะมีพระเอกที่เป็นผู้ดีมีตระกูลทำงานเป็นข้าราชการ  ละครที่ฮิตที่สุดเรื่องหนึ่งก็คือ บ้านทรายทองซึ่งพระเอกเป็น  ชายกลาง  เดี๋ยวนี้ละครเปลี่ยนไปมาก  พระเอกหรือตัวเอกส่วนใหญ่เป็นนักธุรกิจ  หลาย ๆ  เรื่องก็เป็นชาวบ้านธรรมดา  และละครที่กำลังฮิตมากก็คือ สูตรเสน่หา  ซึ่งพระเอกเป็น  ครูกุ๊ก  เรื่องของชนชั้นในสังคมนั้น  ถ้าจะยังมีอยู่ก็เป็นเรื่องว่า  ใครมีเงินมากกว่ากัน  เพราะฉะนั้น  นักธุรกิจหรือเจ้าของกิจการซึ่งมักจะมีเงินมากจึงเป็นคนที่มีสถานะค่อนข้างโดดเด่นในสังคม

          พูดถึงเรื่องของดารา  ซึ่งผมหมายรวมถึงนักร้องด้วยนั้น  สมัยก่อน  ดาราเป็นอาชีพ  เต้นกินรำกิน  ซึ่งหมายถึงการเป็นอาชีพที่ต่ำต้อยในสายตาของสังคม   ดังนั้น  คนที่เรียนสูงระดับจบปริญญาตรีนั้นมักจะไม่ยอมทำอาชีพหรือเป็นดารา   เดี๋ยวนี้คนอยากเป็นดารากันทั้งนั้น  แม้แต่คนที่เรียนจบจากฮาร์วาดหรือเรียนจบปริญญาเอกจากต่างประเทศก็ยังอยากเป็นดารา   ดาราที่สมัยก่อนมักจะเป็นลูก  ชาวบ้านธรรมดา  นั้น   เดี๋ยวนี้  จำนวนมากเป็นลูก  ไฮโซ  อาชีพดาราสมัยก่อนนั้นแทบไม่มีเงินเหลือเก็บทั้งที่แสดงเป็นสิบหรือร้อยเรื่อง  สมัยนี้ดาราหลายคนมีเงินมากเป็นเศรษฐีร้อยล้านบาทก็มี   นอกจากเงินแล้ว   ดาราเป็นคนที่มีชื่อเสียงและสามารถสร้างชื่อเสียงให้กับคนที่มาเกี่ยวข้องได้  ดังนั้น  ดาราจึงเป็นที่หมายปองของคนหลาย ๆ  คนหรือหลาย ๆ  กลุ่ม เช่นนักการเมืองหรือกลุ่มนักธุรกิจที่ต้องการคนที่มาช่วยในการประชาสัมพันธ์งานของตนเอง

            การหาคู่ครองของดาราสะท้อนภาพของสังคมได้ค่อนข้างชัดเจน  ดาราผู้หญิงเดี๋ยวนี้ไม่ชอบคู่ที่เป็นตำรวจทหารหรือข้าราชการอย่างในสมัยก่อน  หรือถ้าจะชอบผู้ชายก็มักจะเป็นลูกของข้าราชการชั้นผู้ใหญ่หรือนักการเมืองที่มีเงินมหาศาล  ดาราหญิงชื่อดังส่วนใหญ่ชอบนักธุรกิจหรือลูกเจ้าของกิจการขนาดใหญ่หรือดาราชื่อดังด้วยกัน   ว่าที่จริงสมัยนี้ดาราหญิงนั้นแข่งขันหรือวัดกันว่าใครจะมีแฟนหรือมีคู่ที่รวยกว่ากัน  เพราะการมีแฟนที่รวยจะทำให้ดารามีหรือรักษาสถานะที่โดดเด่นในสังคมได้ยาวนาน  การมีแฟนจนหรือไม่รวยนั้นจะทำให้รู้สึกน้อยหน้าเพื่อนฝูง  ทั้งหมดนั้นแตกต่างกับดาราสมัยก่อนอย่างสิ้นเชิง  เพราะดาราสมัยก่อนนั้นแทบไม่มีโอกาสมีคู่ที่มีฐานะเป็นเศรษฐี  ว่าที่จริง  ดาราสมัยก่อนนั้นไม่กล้าแม้แต่จะบอกว่าตนเองมีคู่แล้วเนื่องจากกลัวว่าผู้คนจะไม่ดูหนังที่ตนเองเล่นถ้ารู้ว่ามีคู่แล้ว

          ดาราแต่งหรือเป็นคู่กับเศรษฐีหรือไฮโซนั้น   แม้ว่าในสังคมดูเหมือนจะมองว่าดารายังเป็น  เบี้ยล่าง  เห็นได้จากการที่ต้องได้รับการ  “Approve” หรือได้รับการยอมรับจากว่าที่แม่สามี  แต่ไม่เคยมีข่าวว่า ว่าที่ลูกเขยที่ร่ำรวยได้รับการอนุมัติจากว่าที่แม่ยายแล้ว  แต่ดาราเองนั้นเดี๋ยวนี้ก็  ไม่แคร์    เหนือสิ่งอื่นใด  คนในสังคมไม่ค่อยสนับสนุน  ผู้ดีเก่าที่อาจจะแสดงอาการเหยียดดารา  ตรงกันข้าม  ดารานั้น  มีทั้งชื่อเสียงและเงินและด้วยอิทธิพลของสื่อที่รวดเร็วกว้างขวางในปัจจุบัน  ดารากำลังจะกลายเป็นไฮโซเหมือนอย่างที่พวกเขาเป็นในต่างประเทศ

            ผมเขียนมายืดยาวเกี่ยวกับเรื่องของหนังและดารา  ดูเหมือนว่าจะไม่เกี่ยวอะไรกับเศรษฐกิจและการเมือง  และถ้าดูเรื่องของสังคมก็เป็นสังคมของดารา  ไม่เกี่ยวอะไรกับสังคมทั่วไปไม่ต้องพูดถึงหุ้น  แต่ผมคิดว่าเรื่องของดารานั้นเป็นภาพสะท้อนของสังคมส่วนรวม   เป็นเรื่องของความเชื่อและความนึกคิดของคนทั่วไปที่แสดงออกผ่านทางดาราและภาพยนต์หรือละคร  และสิ่งที่ผมสรุปจากการดูพัฒนาการของวงการนี้ผมเห็นว่า   สังคมไทยนั้น   กำลังปรับเปลี่ยนไปตามอย่างตะวันตกอย่างไม่อาจหวลกลับได้นั่นคือ
            สังคมไทยกำลังถอยห่างจาก  Establishment  หรือการกำหนดมาตรฐานประจำชาติหรือกลุ่มคนที่มีอำนาจหรือมีอิทธิพลที่เป็นทางการ  ประชาชนทั่วไปมีความมั่นใจในตนเองมากขึ้นและแสดงออกใน สังคมของตนเอง  พวกเขา ไม่แคร์ว่าใครจะอยู่  ชั้นไหน  ในสังคมเก่าสมัยก่อน   สิ่งที่เขาสนใจและแสวงหาก็คือ  ใครมีเงินมากกว่า  พูดง่าย ๆ  เงินเป็นตัววัดความสำเร็จ   เงินเป็นสิ่งที่คนแสวงหา  ถ้าจะพูดว่าสังคมไทยนั้นเป็นสังคมของทุนนิยมเต็มที่ก็ไม่น่าจะผิด  อย่างน้อยก็ในด้านของสังคมและเศรษฐกิจ  และแม้ว่าอาจจะมีพลังบางอย่างจากคนบางกลุ่มที่พยายามขัดขวางกระบวนการนี้ผ่านทางการเมือง  มันก็จะไม่มีทางสำเร็จเพราะคนส่วนใหญ่ไม่ยอมรับ 

            ผมเองมักจะถูกถามว่า  ถ้ามีกฎหมายหรือมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่ทำให้การทำธุรกิจของบริษัทที่เราลงทุนอยู่ประสบอุปสรรคอย่างแรงเราจะทำอย่างไร   คำตอบของผมก็คือ  ถ้าสิ่งที่บริษัทเราทำนั้นมีประโยชน์และคนต้องการ  กฎหมายนั้นย่อมไม่สามารถขวางได้  โดยนัยก็คือ  มันไม่น่าจะเกิดได้  หรือถ้าเกิดได้ก็ต้องมีทางแก้  ชีวิตประชาชนนั้น  เหมือนกับชีวิตของดารา  ถึงวันนี้พวกเขากำหนดแนวทางชีวิตของเขาได้แม้ว่าจะมีคนหรือกฏเกณฑ์ที่คอยขัดขวางหรือบอกว่าห้ามทำ  ดังนั้น  ถ้าประชาชนบอกว่าเขาต้องการใช้สินค้าของบริษัทเราและเขาพร้อมที่จะจ่ายเงิน  อย่ากลัวว่าจะถูกขัดขวางโดยนักการเมือง  อย่างมากต้นทุนของบริษัทก็จะเพิ่มขึ้นบ้างเท่านั้น  ในโลกของทุนนิยมนั้น  เงินเป็น  คะแนนโหวตที่ตัดสินเสมอ


21  ธันวาคม  2552

กองทุนรวมหุ้น


เมื่อสัปดาห์ก่อนหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจลงข่าวเกี่ยวกับกองทุนหุ้นโดยสาระสำคัญอยู่ที่ว่าคนไทยไม่ใคร่นิยมลงทุนในกองทุนหุ้นเท่าใดนัก   จากตัวเลขจำนวนกองทุนหุ้นทั้งหมด 105 กอง นั้นพบว่า  กองทุนที่มีขนาดใหญ่กว่า 1000 ล้านบาทนั้นมีเพียง 12 กองทุนและเม็ดเงินส่วนใหญ่ก็เพียงพันล้านต้น ๆ   ในขณะที่กองทุนหุ้นที่ต่ำกว่า 100 ล้านบาทนั้นมีจำนวน 16 กองทุน  และกองทุนหุ้นส่วนใหญ่หรือจำนวน 62 กองทุนนั้นมีพอร์ตขนาด 100-500 ล้านบาท    นอกจากความไม่สนใจลงทุนในกองทุนรวมหุ้นแล้ว  เนื้อข่าวยังบอกด้วยว่าคนที่ซื้อหน่วยลงทุนหุ้นนั้นมักจะไม่ค่อยให้ความสำคัญกับฝีมือในการลงทุนของผู้จัดการกองทุนแต่เน้นที่ความสะดวกในการซื้อขายและค่าธรรมเนียมในการบริหารที่ถูกมากกว่า

ผมเองเห็นด้วยกับข้อสรุปข้างต้นและนั่นน่าจะเป็นเหตุผลที่ทำให้กองทุนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดส่วนใหญ่กลายเป็นกองทุนหุ้นที่บริหารโดยบริษัทจัดการกองทุนในเครือธนาคารพาณิชย์ที่มีสาขากว้างขวางและเป็นกองทุนที่อิงดัชนี   นั่นคือเป็นกองทุนที่ไม่ต้องคัดเลือกหุ้น  แต่ซื้อตามสัดส่วนของหุ้นที่อยู่ในดัชนีเช่น  กองทุนที่อิงกับหุ้นใน SET 50 เป็นต้น   นอกจากนั้นผมยังมีข้อสังเกตและข้อเสนอแนะเพิ่มเติมสำหรับนักลงทุนหลายประการดังต่อไปนี้           

ข้อแรกที่ทำให้บริษัทจัดการการลงทุนไม่สามารถทำผลงานได้โดดเด่นนั้น  ผมคิดว่าอยู่ที่โครงสร้างการทำงานของผู้จัดการกองทุน   โดยความเข้าใจของผมก็คือ  เวลาจะลงทุนในหุ้นนั้นเขาจะจัดการกันในรูปแบบของ  คณะกรรมการการลงทุน  นั่นก็คือ  จะต้องมีคนนำเสนอหุ้นที่น่าสนใจให้กับคณะกรรมการการลงทุนเพื่อพิจารณาอนุมัติ  หลังจากนั้นแล้วก็จะมีคนไปทำการซื้อขายตามมติที่ได้รับ  ผลงานที่ออกมาของกองทุนแต่ละกองนั้น   ดูเหมือนว่าจะไม่ใช่ฝีมือของผู้จัดการกองทุนคนใดคนหนึ่ง   แต่เป็นผลงานรวม ๆ  ของการจัดการของคณะกรรมการการลงทุนของบริษัท  ซึ่งก็อาจจะดูแลการลงทุนในกองทุนหุ้นหลาย ๆ  กองด้วย   เห็นได้จากรายชื่อหุ้นที่เหมือน ๆ  กันในกองทุนหุ้นเกือบทุกกองที่บริษัทบริหาร         

ประเด็นก็คือ  การลงทุนในหุ้นนั้น   ผมคิดว่าเป็นเรื่องของศิลปะค่อนข้างมาก  การใช้  คณะกรรมการ  มาทำงาน  ศิลป์  นั้น  โอกาสที่จะทำได้ดีโดดเด่นนั้นยากมาก   เปรียบเหมือนกับการวาดภาพศิลปะ   ถ้าเราเอาคณะกรรมการมาเป็นคนกำหนดแล้วให้ศิลปินมาวาดภาพตามที่ต้องการ  แบบนี้โอกาสที่เราจะได้ภาพที่เป็นมาสเตอร์พีชก็คงไม่มี   อย่างมากก็จะได้ภาพกลาง ๆ  ที่อาจจะไม่แย่มากแต่ก็จะไม่มีทางโดดเด่น   ว่าไปแล้ว  ในตลาดหุ้นไทย  เรายังไม่เคยมี  ผู้จัดการการลงทุนจริง ๆ  ที่เป็นคนเลือกหุ้นลงทุนที่มีชื่อเสียงเลย   ผู้จัดการบริษัทจัดการการลงทุนหรือ  หัวหน้าผู้จัดการการลงทุน   ที่เปิดตัวต่อสาธารณชนนั้น   เกือบทั้งหมดดูเหมือนว่าจะเป็น  หนึ่งในคณะกรรมการการลงทุนที่ไม่ได้ไปสัมผัสกับการวิเคราะห์หุ้นจริง ๆ   พูดง่าย ๆ   บ้านเราไม่มี  ปีเตอร์ ลินช์  หรือ  บิล มิลเลอร์ เมืองไทย   และเราก็ไม่เคยมีกองทุนที่โดดเด่นที่คนต้องเอาเงินมาลงทุนอย่างกองทุน  ไฟเดลลิตี้           

แน่นอนว่าในบางช่วงบางตอน  กองทุนบางกองของบางบริษัทโดยเฉพาะที่เป็นกองเล็ก ๆ  อาจจะมีผลงานการลงทุนโดดเด่นมาก   แต่เมื่อเวลาผ่านไปและกองทุนอาจจะมีขนาดใหญ่ขึ้น   ผลงานการลงทุนก็มักจะกลับมาสู่สภาวะปกติหรือแย่ลงทำให้คนที่เข้าไปลงทุนหลังจากเห็นผลงานที่ดีเยี่ยมต้องขาดทุนหรือผิดหวัง   นี่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตลอดเวลา  ในทางวิชาการเราเรียกว่าผลงานที่โดดเด่นนั้นเป็นเรื่อง  บังเอิญ  ไม่ได้เกี่ยวกับฝีมืออะไรทั้งสิ้น   ถ้าจะเป็นเรื่องของฝีมือแล้ว  กองทุนควรจะต้องมีผลตอบแทนที่ดีเหนือกว่าตลาดอย่างต่อเนื่องยาวนาน  ซึ่งเป็นที่น่าเสียใจว่ายังไม่มีกองทุนไหนทำได้           

ระบบการจ่ายผลตอบแทนเองก็ไม่เอื้อให้เกิด  มืออาชีพ  ที่โดดเด่นในการบริหารการลงทุน   เพราะคนที่มีฝีมือดีจริง ๆ  และบริหารจนกองทุนได้กำไรมาก ๆ  แต่ตนเองก็คงไม่ได้ผลตอบแทนมากมายอะไรนักอย่างมากก็อาจได้โบนัสเพิ่มอีกสักเดือนสองเดือน   ดังนั้น  ถ้าเขาเก่งจริง  เขาก็น่าจะออกไปบริหารเงินของตนเองจะดีกว่า   นอกจากนั้น  ระบบการบริหารแบบบริษัทจัดการการลงทุนนั้น  ผมคิดว่าจะสร้างนักลงทุนฝีมือเยี่ยมได้ยาก   ทั้งนี้เพราะทุกอย่างดูเหมือนมีกฏเกณฑ์ที่ไม่เอื้ออำนวยให้สามารถตัดสินใจได้อย่างเป็นอิสระจริง ๆ  ตัวอย่างง่าย ๆ  ก็เรื่องของหุ้นที่ลงทุนได้นั้น  ข้อห้ามอาจจะรวมถึง  สภาพคล่องของหุ้น   บริษัทจะต้องมีกำไร   ขนาดของบริษัทที่ต้องไม่เล็ก  เป็นต้น   เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ  ผู้บริหารกองทุนจะทำอะไรที่  เสี่ยง  ไม่ได้  แม้ว่าจะเป็น  ความเสี่ยงที่ไตร่ตรองดีแล้ว   ว่าที่จริงเขาก็ไม่รู้จะเสี่ยงไปทำไม   เพราะถ้าเสี่ยงแล้วสำเร็จก็ได้แต่คำชม   แต่ถ้าพลาดอาจจะตกงานหรือโดนสอบสวน         

ผลจากความล้มเหลวในการสร้างนักบริหารการลงทุนมืออาชีพในตลาดหุ้นไทยนั้น  ค่อนข้างจะเห็นได้ชัดจากตัวเลขจำนวนเม็ดเงินลงทุนในหุ้นของบริษัทจัดการการลงทุน  กองทุนหุ้นที่มีการจัดการหรือเลือกหุ้นนั้นมีขนาดเล็กมากอย่างไม่น่าเชื่อ  กองที่ใหญ่ที่สุดนั้นส่วนใหญ่ก็มีเม็ดเงินในพอร์ตเพียงระดับพันล้านบาทต้น ๆ  เทียบกับนักลงทุนส่วนบุคคลรายใหญ่หลายรายในตลาดแล้วดูเหมือนว่ากองทุนจะไม่ใหญ่กว่าเลย   ในขณะที่ตลาดหุ้นอย่างในอเมริกานั้น  แม้แต่ วอเร็น บัฟเฟตต์ ที่ถือว่าเป็นคนที่ลงทุนในหุ้นที่ใหญ่ที่สุด  แต่ถ้าเทียบกับกองทุนแล้วก็เล็กนิดเดียว   ดังนั้น  อิทธิพลและอำนาจการซื้อขายหุ้นของกองทุนมีมหาศาลเมื่อเทียบกับส่วนบุคคล   ขณะที่ในตลาดหุ้นไทยนั้น  อิทธิพลของนักลงทุนส่วนบุคคลนั้นน่าจะเหนือกว่ากองทุนรวมมาก            

สุดท้ายก็คือคำแนะนำของผมสำหรับคนที่อยากลงทุนในกองทุนรวมหุ้น   คำแนะนำก็คือ  ข้อแรก  พยายามใช้ประโยชน์จากการที่รัฐให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีโดยเฉพาะการลงทุนซื้อ  LTF และ RMF เพราะนี่จะช่วยให้เรามีแต้มต่อในการลงทุนแม้ว่าฝีมือในการบริหารกองทุนจะไม่ดีนักเราก็น่าจะได้ผลตอบแทนคุ้มค่า  ข้อสอง  ถ้าจะลงทุนในกองทุนรวมหุ้น   ควรลงทุนในกองทุนหุ้นที่อิงดัชนีซึ่งไม่ต้องอาศัยฝีมือผู้บริหาร  และควรเลือกผู้จัดการที่คิดค่าธรรมเนียมต่ำที่สุด   ข้อสาม  อย่าพยายามตามหากองทุนที่กำลัง  ร้อน  ไม่ว่าจะเป็นกองทุนหุ้นประเภทไหน  เพราะจับเข้าไปก็คงถูก ลวก  มากกว่า  และสุดท้าย  ถ้าเรามีความรู้บ้างและมีเงินลงทุนระดับหนึ่งเช่นหนึ่งล้านบาทขึ้นไป  เราสามารถสร้างพอร์ตลงทุนส่วนตัวที่มีโอกาสได้ผลตอบแทนคล้าย ๆ  กับกองทุนรวมหรือตลาดหลักทรัพย์แต่ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมในการบริหารปีละประมาณ 2% ได้ไม่ยาก  เหตุผลก็คือ  เราสามารถกระจายการถือหุ้นได้ค่อนข้างกว้างขวางเป็นสิบ ๆ ตัวโดยที่เม็ดเงินลงทุนและต้นทุนในการซื้อขายหุ้นแต่ละตัวนั้นค่อนข้างจะต่ำ  ดังนั้น  เราสามารถเลียนแบบกองทุนรวมได้ไม่ยาก  ไม่เหมือนการลงทุนในอเมริกาที่คุณไม่สามารถซื้อหุ้นได้มากตัวถ้าพอร์ตคุณเล็ก  


12  ธันวาคม  2552

สูตรเศรษฐี


ความมั่งคั่ง  ความร่ำรวย  หรือการเป็นเศรษฐีสำหรับคนที่ไม่ได้มีพ่อแม่ร่ำรวยมาก่อนนั้น  สำหรับคนจำนวนมากดูเป็นเรื่องที่ทำได้ยากมาก  บางคนอ่านหนังสือเกี่ยวกับการออมก็มักได้รับคำแนะนำที่ทำได้ยาก  เช่น  บอกว่าให้กันเงินจากเงินเดือนหรือรายได้ 10-20% เก็บไว้ก่อน  ไม่ใช่ใช้ก่อนเหลือแล้วค่อยเก็บ   ปัญหาก็คือ  รายได้นั้นไม่ค่อยพอใช้อยู่แล้วแม้ว่าจะไม่ได้ใช้อย่างฟุ่มเฟือย  เพราะค่าใช้จ่ายจำนวนมากเป็นค่าใช้จ่ายที่ลดไม่ค่อยได้  เช่น  ค่าผ่อนบ้าน  ค่าผ่อนรถ  ค่าอาหาร  เป็นต้น  ซึ่งผมเองเห็นด้วย  วิธีการที่จะทำให้เรามั่งคั่งนั้นถ้าจะให้ปฏิบัติได้จริงต้องไม่ทำให้เรารู้สึกลำบากหรือรู้สึกว่าความสุขหายไปมากและเป็นเวลานาน  เหนือสิ่งอื่นใด  ความอยากรวยนั้นก็เพื่อที่จะทำให้มีความสุข  ดังนั้น  การเสียสละความสุขเพราะต้องลดค่าใช้จ่ายเป็นเวลานานนั้นจึงไม่มีเหตุผล 

ต่อไปนี้เป็นแนวทางหรือจะเรียกให้เท่ก็คือเป็นสูตรที่จะช่วยให้เรามีความมั่งคั่ง  ร่ำรวย  หรือแม้แต่เป็นเศรษฐีโดยเราไม่จำเป็นต้องรู้สึก  อดอยาก  และเป็นสูตรที่เหมาะมากโดยเฉพาะกับคนที่เพิ่งเริ่มชีวิตการทำงานหลังจากที่จบการศึกษาใหม่ ๆ   อย่างไรก็ตาม  คนที่มีอายุมากขึ้นแล้วก็สามารถประยุกต์ใช้ได้เท่าที่จะทำได้

ข้อแรกก็คือ  ถ้าคิดว่าเรายังไม่รวย   อย่าซื้อรถ  การซื้อรถยนต์ส่วนตัวใช้นั้น  เท่ากับเรากำลังสร้างรายจ่ายที่ลดได้ยากมาก  และทุกเดือน  เราจะมีรายจ่ายเป็นหมื่นหรือหลายหมื่นเป็นค่าผ่อนรถ  ค่าน้ำมัน  ค่าประกัน ค่าซ่อม  และอื่น ๆ   บางทีรายจ่ายนั้นอาจจะไม่เป็นตัวเงินจริงเนื่องจากเราซื้อรถด้วยเงินสด  เราไม่เสียค่าผ่อนรถ  แต่จริง ๆ  แล้วเราก็มี  ค่าเสื่อม  ซึ่งก็เป็นค่าใช้จ่ายที่สูงไม่ต่างกับค่าผ่อนรถนัก  หลายคนอาจจะเถียงว่าเขาสามารถประหยัดค่ารถเมล์  ค่ารถไฟฟ้า หรือค่าแท๊กซี่ ลง  แต่ถ้าคิดคำนวณค่าใช้จ่ายทุกด้านของการมีรถยนต์ส่วนตัวแล้ว  ผมคิดว่าการใช้รถสาธารณะนั้นประหยัดกว่ามากและจะทำให้เรามีเงินเหลือเก็บและลงทุนได้มากกว่า


ข้อสอง  อย่าซื้อบ้านถ้าไม่จำเป็น  และถ้าจำเป็นก็ซื้อบ้านที่เล็กที่สุดที่จะเพียงพออยู่สำหรับตนเองและคู่ครอง  และลูกที่มีอยู่หรือที่วางแผนที่จะมีในอนาคต  ทำเลของบ้านควรอยู่ในที่ที่การเดินทางไปทำงานและ/หรือไปเรียนสะดวกและไม่ต้องต่อรถหลาย ๆ  ต่อซึ่งจะทำให้  ค่าใช้จ่ายในการอยู่อาศัยและเดินทางต่ำที่สุด  คำว่าค่าใช้จ่ายในการอยู่อาศัยนั้น  บางคนอาจจะไม่รู้สึกว่ามีเพราะเขาไม่ต้องเสียค่าเช่า  แต่จริง ๆ แล้วการมีบ้านที่ใหญ่จะทำให้ค่าบ้านสูงซึ่งทำให้ต้องจ่ายค่าผ่อนบ้านแต่ละเดือนมากขึ้นไม่นับรายจ่ายอื่น ๆ  ที่ตามมาจากการมีบ้านที่ใหญ่ขึ้น   นี่เป็นความคิดที่อาจจะแย้งกับอีกหลายคนที่บอกว่าควรซื้อบ้านใหญ่ที่สุดที่สามารถผ่อนได้  เพราะบ้านนั้นเป็นเหมือน  การลงทุน  และการอยู่บ้านใหญ่นั้น มีความสุข  มากกว่า   แต่จากประสบการณ์ส่วนตัวผมเองนั้นพบว่า  บ้านอยู่อาศัยนั้นราคามักจะไม่ค่อยขึ้น  เช่นเดียวกัน  บ้านที่ใหญ่เกินความจำเป็นนั้น  ถ้าจะเพิ่มความสุขได้ก็น่าจะน้อยและไม่คุ้มกับต้นทุนที่เพิ่มขึ้น

ข้อสาม  มีลูกให้น้อย  อย่าเกินสองคนก็ดี   เพราะลูกนั้นเป็นค่าใช้จ่ายที่สูงมากในการเลี้ยงดูและให้การศึกษา   คำสมัยก่อนก็คือ  มีลูกหนึ่งคนจนไปเจ็ดปี   แต่สมัยนี้ผมคิดว่ายาวกว่านั้น   คนในสมัยก่อนมีลูกเพราะคิดว่าเป็น  การลงทุน   นั่นคือ  หลังจากที่ลูกโต  เขาก็กลับมาเลี้ยงเรา  ดังนั้นเขาจึงมีลูกมากแต่ในปัจจุบันความคิดนี้ก็ใกล้หรือกำลังหมดไป  เราไม่หวังให้ลูกมาเลี้ยงเราแล้ว  ดังนั้น  ถ้าอยากรวย  อย่ามีลูกมาก

ข้อสี่  รายจ่ายค่าสมาชิกทั้งหลาย  เช่น  สมาชิกสถานออกกำลังกาย  สมาชิกเคเบิลทีวีราคาแพง  สมาชิกที่สามารถพักตามเครือข่ายโรงแรมตากอากาศหลายแห่ง  เหล่านี้เป็นความบันเทิงหรือการดูแลสุขภาพที่เราสามารถหาซื้อได้ในราคาที่ถูกกว่ามาก  เช่น  แทนที่จะเข้าฟิตเนส  เราสามารถไปสวนสาธารณะที่มีการเต้นแอโรบิคที่สนุกสนานทุกวันโดยที่ไม่ต้องเสียเงิน  เคเบิลทีวีราคาถูกเดี๋ยวนี้บางแห่งมีรายการดีมากเกือบเท่าแบบที่มีราคาแพงแต่เสียค่าใช้จ่ายแค่เดือนละ 200 บาทก็มี   พูดถึงเรื่องการพักผ่อนต่างจังหวัดแล้วก็ทำให้ผมมีข้อแนะนำอีกว่า   อย่าซื้อคอนโดหรือบ้านพักในสถานที่ท่องเที่ยว  เพราะนี่เป็นต้นทุนค่าใช้จ่ายที่สูงมากเทียบกับการที่เราไปเช่าโรงแรมอยู่   คนอาจคิดว่านี่เป็น  การลงทุน  แต่จริง ๆ  แล้วราคาก็มักจะไม่ค่อยขึ้นหรือถึงขึ้นเราก็มักจะไม่ขาย  ในระหว่างนั้นเราก็ต้องผ่อนส่งรายเดือนหรือต้องเสีย ค่าเสื่อม   ไปเรื่อย ๆ  เหนือสิ่งอื่นใด  การพักโรงแรมนั้นเราไม่ต้องดูแลทำความสะอาดและเราจะไปพักสถานที่ไหนก็ได้ซึ่งทำให้เรามีความสุขมากกว่า
ข้อห้า  ถ้าอยากรวย  นอกจากปฏิบัติตามแนวทางข้างต้นแล้ว  จะต้องไม่ใช้จ่ายฟุ่มเฟือยและเก็บออมเงินให้มากที่สุดโดยไม่จำเป็นต้องประหยัดเกินความจำเป็นจนทำให้เรารู้สึกไม่สบาย  สิ่งนี้ทำไม่ยากถ้าเรารู้จักซื้อของแบบเน้น  คุณค่า  นั่นคือ  ใช้เงินน้อยแต่สามารถตอบสนองความต้องการเกิน 90%  ตัวอย่างง่ายที่สุดก็คือ  การซื้อของไม่มียี่ห้อที่มีคุณภาพดีหรือซื้อของมียี่ห้อในช่วงที่มีการลดราคามาก ๆ เป็นต้น

สุดท้าย  ก็คือ  ถ้าคุณต้องการแค่ว่าคุณจะสามารถอยู่อย่างสบายมีเงินพอสมควร  แต่ไม่ต้องการความผันผวนของความมั่งคั่ง  คุณจะต้องบริหารเงินโดยการจัดสรรทรัพย์สินให้อยู่ในหลักทรัพย์หลาย ๆ  อย่างรวมถึงพันธบัตรและหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ไม่ว่าจะบริหารเองหรือมอบให้  มืออาชีพซึ่งก็คือบริษัทจัดการการลงทุนทำ  แต่ถ้าคุณอยากรวยหรือเป็นเศรษฐีละก็  คุณควรลงทุนเงินที่เหลือเก็บไว้ในหุ้นเพียงอย่างเดียว   การลงทุนในหุ้นในระยะยาวมาก ๆ  นั้น   ความเสี่ยงจะไม่สูงและผลตอบแทนจะสูงกว่าการลงทุนในตราสารการเงินอื่นมาก   ดังนั้น  ถ้าคุณมีเวลาในการเก็บเงินและลงทุนยาวเป็น 20-30 ปี  ผมแนะนำว่าให้ลงทุนเงินทุกบาททุกสตางค์ในหุ้น  ไม่ว่าจะลงเองหรือใช้มืออาชีพลงให้  นอกจากนั้น  ในการลงทุน   ถ้าได้ผลประโยชน์ทางภาษีด้วย  เช่น  การลงทุนใน LTF หรือ RMF  ก็ควรใช้สิทธินั้นอย่างเต็มที่

และเช่นเคย  สิ่งที่แนะนำมาทั้งหมดนั้น  ไม่รับประกันว่าคุณต้องรวยแน่นอน  แต่ผมคิดว่ามันเพิ่มโอกาสการเป็นเศรษฐีให้คนที่ปฏิบัติขึ้นมาก  เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ  ถ้าไม่ได้เป็นเศรษฐีคุณก็คงไม่จนและความสุขเพิ่มขึ้นแน่นอน


9  ธันวาคม  2552

ปราสาททราย


สัปดาห์ก่อนนักลงทุนต้องตกอกตกใจกับข่าวเกี่ยวกับเศรษฐกิจ 2 เรื่อง คือ  เรื่องแรก  เวียตนามประกาศลดค่าเงินด่องลงมาประมาณ 5% เมื่อเทียบกับเงินเหรียญสหรัฐซึ่งก็อ่อนค่าลงอยู่แล้วเมื่อเทียบกับค่าเงินอื่น ๆ  ของโลก   เวียตนามลดค่าเงินลงเนื่องจากกำลังมีปัญหาเงินสำรองต่างประเทศขาดแคลนและภาวะการเงินของประเทศน่าจะเข้าใกล้วิกฤต  นี่เป็นเรื่องที่น่าประหลาดใจเมื่อดูว่าเศรษฐกิจเวียตนามในช่วงปีที่ผ่านมามีการเติบโตที่น่าประทับใจเป็น ดาราประเทศหนึ่งในขณะที่ประเทศอื่น ๆ ส่วนใหญ่แล้วเศรษฐกิจติดลบเพราะผลจากวิกฤติของอเมริกา   อย่างไรก็ตาม  เนื่องจากเศรษฐกิจที่ยังเล็กมาก  ปัญหาของเวียตนามจึงไม่ได้ส่งผลอะไรกับประเทศอื่นนักและผมเชื่อว่าเวียตนามก็จะผ่านภาวะยุ่งยากนี้ไปได้ไม่ยากนัก  เผลอ ๆ  จะแข็งแกร่งขึ้นไปอีกเมื่อสินค้าของเวียตนามมีราคาถูกลงและสามารถแข่งขันได้มากขึ้นในตลาดโลก  โดยเฉพาะกับสินค้าเกษตรจากประเทศไทย

เรื่องที่สองนั้นน่ากลัวกว่ามาก   เพราะเป็นเรื่องที่บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ยักษ์ใหญ่ของรัฐดูไบคือ  ดูไบเวิลด์ ประสบปัญหาทางการเงินไม่สามารถชำระหนี้ได้  หนี้หลายหมื่นล้านเหรียญที่อาจจะต้องเป็นหนี้สูญของสถาบันการเงินที่ให้ดูไบเวิลด์กู้นั้น   เป็นหนี้ของสถาบันการเงินใหญ่ ๆ  ของโลกที่กระจายอยู่ในประเทศพัฒนาแล้วเป็นส่วนใหญ่  ดังนั้น  ผลกระทบกับสถาบันการเงินคงต้องมีไม่น้อยหลังจากที่เคยประสบมาแล้วจากวิกฤติซับไพร์มของอเมริกา   แต่นี่ยังไม่จบ  ที่จริงมันอาจจะเพิ่งเริ่ม  เพราะผมเชื่อว่าในไม่ช้าก็จะมีบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของดูไบขาดสภาพคล่องและล้มละลายเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ   เหตุผลก็น่าจะเป็นเรื่องเดียวกับดูไบเวิลด์นั่นคือ  เป็นเรื่องของ  ฟองสบู่  อสังหาริมทรัพย์ที่  เฟื่องฟูมาหลาย    ปีตั้งแต่ที่ราคาน้ำมันปรับตัวขึ้นและทำให้ดูไบร่ำรวยและเริ่มหันมา  สร้างเมือง  อย่างที่ไม่เคยมีใครจินตนาการได้ว่าจะเกิดขึ้นได้ในโลกนี้

ผมเคยไปดูไบเมื่อ 2-3 ปีก่อน  โดยแรงจูงใจลึก ๆ  ก็เพื่อที่จะได้ไปเห็นกับตาว่าเมืองนี้  มหัศจรรย์อย่างไร  สิ่งที่ได้พบก็คือ  มันเต็มไปด้วยอาคารสูงขนาดใหญ่และแพงที่สุดของโลกจำนวนมากกำลังถูกสร้างขึ้นกลางทะเลทราย  โดยที่ผู้ปกครองหวังว่าจะทำให้ดูไบเป็นเมืองพักผ่อนและท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวทั่วโลกโดยเฉพาะที่มาจากประเทศอาหรับที่ร่ำรวยจากการขายน้ำมัน   ดังนั้น  อาคารและสิ่งก่อสร้างต่าง    จึงถูกสร้างขึ้นเพื่อรองรับ  วิสชั่น  นี้   เช่น  ในท่ามกลางทะเลทรายที่ดูไบจะมีลานหิมะสำหรับเล่นสกี   จะมีสนามกอล์ฟที่ออกแบบโดยคนระดับ ไทเกอร์วูด   นอกจากนั้น  เพื่อให้ดูหรูหราสุด ๆ  ดูไบยังถมทะเลเพื่อสร้างหมู่บ้านที่ทุกบ้านเป็นเกาะเล็ก ๆ เรียงกันในทะเลมองจากอากาศจะเป็นรูปต้นปาล์ม  ทั้ง ๆ  ที่พื้นดินที่เป็นทะเลทรายก็ยังมีอีกมาก  ทั้งหมดนี้ยังไม่ได้รวมตึกที่สูงที่สุดในโลกที่กำลังใกล้เสร็จโดยที่ผมเองก็ไม่รู้ว่าตึกนี้จะใช้ทำอะไรและทำไมต้องสร้างให้สูงอย่างนั้น   แต่ทั้งหมดที่ผมรู้ก็คือ  ทุกตึกหรือทุกสิ่งก่อสร้างที่กำลังทำอยู่นับพัน ๆ  แห่งนั้น  จะต้องทำให้หรูหราและยิ่งใหญ่ที่สุด

ประชากรของดูไบนั้นมีน้อยนิดน่าจะไม่เกิน 2-3 ล้านคน  แต่คนนอกที่เข้าไปหากินและทำงานโดยเฉพาะที่เกี่ยวกับการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์นั้นกลับมีมากกว่า   เศรษฐกิจของดูไบเองนั้น  ยกเว้นน้ำมันแล้วก็ไม่มีอะไรที่มีนัยสำคัญ   การท่องเที่ยวนั้น  ถ้าดูไปก็ยังมีไม่มากแม้ว่านั่นจะคือเป้าหมายหลักของผู้ปกครองที่อยากเห็น   อย่างไรก็ตาม  ในกระบวนการที่กำลังสร้างเมืองนั้นก็ทำให้เศรษฐกิจเฟื่องฟูมาก  คนดูไบเองรู้สึกว่าผู้ปกครองของตนนั้นมี  วิสชั่น  และความสามารถระดับ เทพ  ที่สามารถทำให้ดูไบที่ไม่ค่อยมีอะไร  กลายเป็นเมืองที่คนทั้งโลกรู้จักและกล่าวขวัญถึง  อนาคตของดูไบนั้นดูสดใสมากจนกระทั่งถึงสัปดาห์ที่แล้วที่ความคิดนี้น่าจะเริ่มเปลี่ยนไป   ไม่มีใครรู้ว่าสุดท้ายดูไบจะเป็นอย่างไร  แต่ ณ. นาทีนี้   คนจำนวนไม่น้อยคงจะเริ่มเชื่อสิ่งที่ก่อนหน้านี้มีคนเคยเตือนเอาไว้ว่า  ดูไบกำลังทำสิ่งที่อยู่ในจินตนาการที่เป็นไปไม่ได้  สิ่งเดียวที่ทำให้เมืองนี้เกิดขึ้นได้ก็คือเงินที่ได้จากน้ำมันบวกกับ  จินตนาการสุดขอบฟ้า  ของผู้ปกครอง  ในที่สุดแล้วมันก็คือ  ปราสาททราย  ที่จะล่มสลายลง

ปัญหาฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ของอเมริกานั้น  ผมคิดว่าในไม่ช้าก็จะหมดไป  เพราะความต้องการในด้านของที่อยู่อาศัยในอเมริกาคงจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ  และดูดซับบ้านที่เกินความจำเป็นไปได้หมด  แต่ปัญหาในดูไบนั้น   ผมคิดว่าน่าจะเลวร้ายกว่ามาก  ผมยังนึกไม่ออกว่าใครจะมารับตึกที่ยังสร้างไม่เสร็จจำนวนมหาศาลไปสร้างต่อ  แม้แต่ตึกที่สร้างเสร็จและมีคนอยู่แล้วก็อาจจะมีปัญหาถ้าคนเริ่มเปลี่ยนมุมมองต่อดูไบไป  ราคาของอสังหาริมทรัพย์ในดูไบตกลงไปหลายสิบเปอร์เซ็นต์ในเวลาอันสั้นและนี่น่าจะก่อปัญหาในด้านของ NPL ของสถาบันการเงิน ต่าง ๆ  ทั่วโลก   จริงอยู่  ดูไบนั้นเล็กกว่าอเมริกามาก  แต่นี่อาจจะเป็น  อาฟเตอร์ช็อค  ที่ทำให้วิกฤตเศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัวชะลอออกไป  ซึ่งผลที่ตามมาก็คือ  ราคาหุ้นที่ได้ปรับตัวขึ้นไปมากอาจจะหยุดหรือถดถอยลง
วิกฤติการณ์ฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ของดูไบนั้น   เป็นอีกบทเรียนหนึ่งที่ย้ำให้เห็นถึงอันตรายและความล้มเหลวที่มักจะตามมาจากความ  เพ้อฝัน  บวกกับ  ความมั่งคั่งที่ไม่ได้มาจากฝีมือและการทำงานหนัก  นอกจากนั้น  มันช่วยเตือนเราด้วยว่า  อะไรที่ดูแล้วไม่น่าจะเป็นไปได้วิเคราะห์จากเหตุผลแบบชาว VI  ในที่สุดแล้วมันก็เป็นไปไม่ได้จริง ๆ   แม้ว่าในระยะสั้นมันดูเหมือนกับว่าทุกอย่างจะไปได้ด้วยดี

กลับมาในเรื่องของหุ้น  ผมคิดว่าผลกระทบไม่น่าจะรุนแรงโดยเฉพาะกับตลาดหุ้นไทย  เหนือสิ่งอื่นใด  ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างดูไบกับไทยนั้นมีน้อยมาก  ผลกระทบกับไทยจริง ๆ  นั้นน่าจะเป็นทางอ้อมผ่านทางด้านตลาดหุ้นทั่วโลก  และถ้าดัชนีหุ้นไทยตกต่ำลงตามภาวะดัชนีหุ้นโลก  ผมก็คิดว่ามันจะเป็นโอกาสอีกครั้งหนึ่งในการซื้อหุ้นเช่นเดียวกับเมื่อคราวเกิดวิกฤติซับไพร์มของอเมริกา


27  พฤศจิกายน  2552

เงินกับกล่อง


           ธรรมชาติของคนเรานั้นต้องการมี เงิน  และ  กล่อง   พูดง่าย ๆ  ก็คือ  ข้อแรก  ทุกคนอยากรวย  เพราะความร่ำรวยทำให้เรามีอิสระเสรีมากขึ้นในการที่จะทำอะไรที่เรารักเราอยากทำได้เต็มที่  ความรวยทำให้เรามีความมั่นคงในชีวิต  ไม่ต้องกังวลว่าเราจะขาดแคลนสิ่งที่จำเป็นหรืออยากได้เมื่อเราต้องการใช้  ความรวยทำให้เราไม่ต้องพึ่งพิงคนอื่นมากนักและทำให้สามารถอยู่ได้อย่างสะดวกสบาย  แต่ทั้งหมดนี้สำหรับคนส่วนใหญ่แล้วก็ไม่เพียงพอ  ต้องมีข้อสองนั่นคือ  คนเราอยากได้ กล่อง  ซึ่งก็คือเราอยากได้รับการ  ยอมรับ  จากคนอื่นว่าเรา  ประสบความสำเร็จ  ความสำเร็จนั้นเป็นเรื่องของความสามารถในการทำสิ่งต่าง ๆ  ที่หลากหลายตั้งแต่เรื่องของวิทยาศาสตร์  การเมือง  การแสดง  กีฬา การทำงาน  และการทำธุรกิจ  แต่ความสำเร็จที่เป็นที่ยอมรับและวัดได้ง่ายที่สุดอย่างหนึ่งก็คือ  การมีเงินมาก

          ในโลกของทุนนิยมนั้น  กล่องกับเงิน  บ่อยครั้งก็มาด้วยกันหรือตามกันมา  เช่น  เป็นดาราที่มีชื่อเสียงเพราะมีรูปร่างหน้าตาและความสามารถสูง  ก็จะมีผู้มาจ้างแสดงภาพยนต์และถ่ายแบบโฆษณาด้วยอัตราสูงลิ่วทำให้มีรายได้มาก  และถ้ารู้จักบริหารเงินก็จะมีเงินเหลือเก็บมากกลายเป็นเศรษฐี เรียกว่ามีทั้งกล่องและเงิน  แต่ในบางกรณี  คนที่ได้กล่องมาก็ไม่มีเงินเพราะกล่องนั้นไม่ทำเงินเช่นนักวิทยาศาสตร์ที่วิจัยค้นพบบางสิ่งบางอย่างที่ทำให้มีชื่อเสียงแต่ไม่สามารถไปทำเงินได้  หรือนักมวยแชมป์โลกหลายคนที่มีชื่อเสียงโด่งดังมีรายได้มากแต่ใช้จ่ายเงินไม่เป็นทำให้ไม่มีเงินเหลือเก็บกลายเป็นคนมีกล่องแต่ไม่มีเงิน

            คนที่มีเงินมากเข้าขั้นเศรษฐีนั้น  จำนวนมากไม่มีกล่องเพราะคนไม่รู้จักและก็ไม่รู้ว่าเป็นคนมีเงินมาก  แต่พวกเขาก็อยากได้กล่อง  เป็นกล่องที่จะบอกว่าเขาประสบความสำเร็จในการหาเงิน  วิธีที่จะทำให้คนเห็นและยอมรับก็คือ  การโชว์ความร่ำรวยผ่านสิ่งต่าง ๆ  ที่พวกเขาสามารถซื้อมาใช้  ไล่ตั้งแต่เครื่องแต่งตัวเช่นเสื้อผ้า  เครื่องเพชร  นาฬิกา ที่มีราคาแพงเกินกว่าที่คนทั่วไปจะมีกำลังซื้อได้  รถยนต์ที่มีราคาแพง  ของสะสมเช่นรูปวาดหรือพระเครื่องที่มีราคาสูง  และที่สำคัญไม่น้อยกว่ากันก็คือบ้านที่ต้องใหญ่โตหรูหราเกินกว่าความจำเป็นที่ต้องใช้สอย  ถ้าจะพูดก็คือ  พวกเขา  ซื้อกล่อง  ด้วยเงินที่มีอยู่จำนวนมาก

            คนบางคนมีรายได้มากแต่ยังไม่มีเงินเหลือเก็บ  เหตุผลก็คือ  พวกเขาพยายามไปหากล่องก่อน  นั่นก็คือ  พอมีรายได้เข้ามาก็เอาเงินไปซื้อทุกสิ่งทุกอย่างเลียนแบบเศรษฐี   พวกเขาต้องการแสดงให้คนเห็นว่าเขาร่ำรวยมีเงินมาก    บางคนมีความคิดว่าถ้าเขาทำตัวแบบเศรษฐี   วันหนึ่งเขาก็จะรวยแบบเดียวกัน  น่าเสียดายที่นั่นเป็นเรื่องของความเข้าใจที่ผิด  เพราะพวกเขาจะไม่ได้เป็นเศรษฐีตัวจริง  เขาจะมีรายจ่ายมากมายที่จะทำให้ไม่มีเงินเหลือเก็บเพื่อที่จะไปลงทุนต่อและทำให้ร่ำรวยได้จริง ๆ   กล่องที่พวกเขาได้จะเป็นกล่องที่  กลวง  ในขณะที่เงินเก็บที่มีอยู่น้อยจะไม่ทำให้เขามีความสุขเท่ากับคนที่มีเงินแต่ไม่มีกล่อง

            จากข้อมูลที่พบในสหรัฐและผมคิดว่าในเมืองไทยก็ไม่น่าจะแตกต่างกันก็คือ  มีคนที่ไม่ได้เป็นคนรวยจำนวนมาก  ซื้อกล่อง  หรือก็คือซื้อสิ่งของเครื่องใช้ที่เป็นการ  แสดงออกถึงความร่ำรวย   ว่าที่จริง   ยกเว้นมหาเศรษฐีที่มักซื้อและใช้สินค้าที่แพงสุดกู่แล้ว  คนที่รวยเป็นเศรษฐีเงินล้านตัวจริงนั้น   ส่วนใหญ่ไม่ได้บริโภคของฟุ่มเฟือยอะไรมากนัก   เสื้อผ้าที่ใช้ก็ไม่ใช่พวกที่มียี่ห้อหรู  นาฬิกาก็มักจะเป็นพวกยี่ห้อไซโกหรือไทม์เม็กซ์  รถยนต์ก็นิยมพวกโตโยต้า  บ้านที่อยู่ก็มักจะราคาปานกลางในทำเลของคนชั้นกลาง  ดังนั้น  เขาสรุปว่า  คนส่วนใหญ่ที่แต่งตัวหรู  ใส่นาฬิกาโรเล็กซ์  ขับรถเบนซ์  มีบ้านใหญ่หรูหรา  ส่วนใหญ่ไม่ใช่เศรษฐีตัวจริง  ดังนั้น   ถ้าคุณอยากเป็นเศรษฐีตัวจริง  คุณไม่จำเป็นต้องทำแบบนั้น

            ถ้าเราต้องการเป็นเศรษฐีมีเงิน  สิ่งที่เราควรทำก็คือ  ทำอย่างเศรษฐีตัวจริง  ซึ่งเขาค้นพบว่า  คนเหล่านี้มักเป็นคนที่ประหยัดอดออม  เก็บเงินที่เหลือไปลงทุน  คนเหล่านี้มีชีวิตที่  พอเพียง  ใช้เงินน้อยกว่ามาตรฐานรายได้และความมั่งคั่งของตนเอง  และนั่นทำให้เขารวย   แต่ส่วนใหญ่แล้วกว่าจะรวยเป็นเศรษฐีมีเงิน 30-40 ล้านบาทขึ้นไป ก็มักจะมีอายุ 50 ปีขึ้นไป  และทั้ง ๆ  ที่ร่ำรวยแล้ว  พวกเขาก็มักจะยังใช้ชีวิตเหมือนเดิม  ไม่ฟู่ฟ่า   อย่างไรก็ตาม  บางคน  โดยเฉพาะที่ร่ำรวยมาก ๆ  เป็นมหาเศรษฐีก็  ซื้อกล่อง  เหมือนกัน   แต่นี่เป็นการซื้อกล่องเมื่อเขามีเงินมากแล้วและไม่ได้กระทบอะไรกับความมั่งคั่งของเขา

            Value Investor นั้น  จำนวนมากไม่มีทั้งเงินและกล่อง  อาจจะเรียกว่าไม่มีฐานะอะไรเลยก็ได้  เพราะหลายคนไม่ได้ทำงานประจำ  พวกเขามุ่งทำเงินเป็นหลักโดยหวังว่าจะมีเงิน  และด้วยการใช้ชีวิตแบบพอเพียงประกอบกับการลงทุนอย่าง เข้มข้น  หลายคนก็หวังจะรวยเป็นเศรษฐีในเวลาอันไม่ไกลนัก  ในความเห็นของผม   นี่คือหนทางของการเป็นคนมีเงินที่น่าจะดีที่สุดทางหนึ่ง   ส่วน  กล่อง  นั้น  ผมคิดว่าในฐานะของคนที่รู้ว่าการบริโภคของหรูหราราคาแพงนั้นไม่ใช่วิถีของเศรษฐีตัวจริง    ไม่ใช่สิ่งที่บอกว่าเป็นเครื่องแสดงออกถึง  ความสำเร็จ  จริง   ดังนั้น  เราก็ไม่ควรต้องใส่ใจ  โดยเฉพาะในช่วงที่เรายังไม่รวย   เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ  ในฐานะของ VI นั้น   เราต้องมองหา  คุณค่าของกล่องเมื่อเทียบกับ  ต้นทุนในการซื้อมัน   วิธีที่จะได้กล่องที่มีคุณค่าจริง ๆ  ก็คือ  ต้องเป็นกล่องที่มาจากความสามารถอันเป็นที่ยอมรับ   ความสามารถนั้นอาจเป็นเรื่องอื่น ๆ  ที่ไม่ได้เป็นเรื่องของการลงทุนหรือเป็นเรื่องการลงทุนก็ได้   แต่มันต้องเป็นความสามารถจริงที่ไม่ได้ซื้อมา  และนี่จะเป็นกล่องที่มีคุณค่าจริง ๆ


23  พฤศจิกายน  2552