วันเสาร์ที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2555

40 VS 51


ภาวการณ์ของตลาดหุ้นและเศรษฐกิจในวันนี้ดูเหมือนกำลังอยู่ในภาวะวิกฤติแบบเดียวกับที่เกิดขึ้นในปี 2540  ต่างกันแต่เพียงว่า  คราวที่แล้วเป็นการเกิดขึ้นในประเทศไทยและลามไปทั่วเอเชีย    แต่คราวนี้เกิดขึ้นที่อเมริกาและกำลังลามไปทั่วโลก  ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับตลาดหุ้นไทยนั้น   ดูเหมือนว่าจะพอ ๆ  กัน  คือในปี 2540 ดัชนีตลาดหุ้นตกลงไปประมาณ 55% ในขณะที่ปี 2551 ถึงขณะนี้  หุ้นตกลงไปประมาณ  50%  ต้น ๆ  เหมือนกัน    ถ้ามองว่าดัชนีตลาดหุ้นเป็นดัชนีชี้นำที่แม่นยำ   ก็อาจจะอนุมานได้ว่า  ปีหน้าของเศรษฐกิจไทยก็คงจะเป็นปี  เผาจริง   อย่างที่เกิดขึ้นในปี 2541 ที่เศรษฐกิจไทยหดตัวลงไปประมาณ 10%    แต่ถ้าทายกันต่อไปอีกก็จะต้องบอกว่าดัชนีหุ้นไทยในปีหน้านั้นน่าจะทรงตัว   เพราะดัชนีหุ้นไทยในปี 2541  นั้นติดลบเพียง 5%   ที่น่าสนใจยิ่งกว่านั้นก็คือ   หลังจากปีหน้าไปแล้ว  ดัชนีหุ้นน่าจะมีการปรับตัวขึ้นไปอย่างแรงไม่ต่ำกว่า 30-40%  เมื่อตลาดคาดว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัว  เพราะนี่คือเหตุการณ์ในปี 2542  ที่ตลาดหุ้นปรับตัวขึ้นไปถึง 35%   

คำถามที่จะต้องตอบก็คือ   วิกฤติครั้งนี้จะเหมือนกับครั้งที่แล้วไหม?  วิกฤติครั้งนี้กับครั้งที่แล้ว   ครั้งไหนรุนแรงกว่ากัน   ถ้าตอบคำถามนี้ได้  เราก็น่าจะพอรู้ว่าดัชนีหุ้นที่ตกลงมาครั้งนี้จะเป็นวิกฤติหรือโอกาสในการลงทุน

ในความทรงจำของผม   เหตุการณ์ในช่วงก่อนปี 2540 นั้น   ประเทศไทยมีภาวะทางเศรษฐกิจแบบ  ฟองสบู่  นั่นคือ  มีการเติบโตของเศรษฐกิจแบบไม่ยั่งยืน  สาเหตุใหญ่ก็คือ  มีการปล่อยสินเชื่อจำนวนมากมหาศาลให้กับโครงการต่าง ๆ  โดยเฉพาะโครงการอสังหาริมทรัพย์และโครงการอุตสาหกรรมขนาดใหญ่จำนวนมากที่ไม่มีความคุ้มค่าทางการลงทุน   สิ่งนี้เป็นไปได้เพราะมีการนำเงินดอลลาร์จากต่างประเทศเข้ามาจำนวนมากผ่านสถาบันการเงิน    เงินเหล่านี้เข้ามาหาส่วนต่างดอกเบี้ยโดยที่ไม่มีความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนและการล้มละลายของผู้กู้เพราะรัฐบาลกำหนดอัตราแลกเปลี่ยน  ตายตัว   ส่วนความเสี่ยงที่สถาบันการเงินจะล้มนั้นดูเหมือนจะไม่มีใครคำนึงถึง    ผลก็คือ  สถาบันการเงินและธุรกิจมีหนี้มหาศาล

ตรงกันข้าม  เหตุการณ์ในช่วง 2-3  ปีที่ผ่านมานั้น   เศรษฐกิจไทยไม่มีภาวะฟองสบู่  ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะบทเรียนที่เคยได้รับจากปี 2540  อีกส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะภาวะทางการเมืองที่ไม่เอื้ออำนวย   ดังนั้น  การลงทุนขนาดใหญ่จึงไม่ค่อยเกิดขึ้น   ในเวลาเดียวกัน  บริษัทต่าง ๆ  ก็มีกำไรดีเป็นประวัติการณ์ทำให้ส่วนของทุนเพิ่มขึ้นมาก   ผลก็คือ  หนี้ของบริษัทต่าง ๆ  มีน้อยลงไปมาก   ตัวเลขคร่าว ๆ  ก็คือ  ในปี 2551  บริษัทที่จะจดทะเบียนในตลาดมีหนี้ต่อทุนประมาณ 1 เท่า   ในขณะที่ในปี 2540 มีหนี้ต่อทุนไม่น้อยกว่า 2 เท่า   และเมื่อเกิดการลดค่าเงินในปี 2540 หนี้สินได้เพิ่มขึ้นประมาณ 1 เท่าตัวจากผลของการปรับค่าเงิน    ประกอบกับการที่บริษัทขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนมาก   ทำให้ทุนลดลงและทำให้หนี้สินต่อทุนมากขึ้นเป็น 4-5 เท่า   ซึ่งนำไปสู่ภาวะล้มละลาย  หรือเกือบล้มละลายของธุรกิจเกือบทั้งประเทศ

หลังจากเหตุการณ์ในปี 2540 นั้น  ธุรกิจจำนวนมากต้องปิดตัวและลดกำลังการผลิตลงเพราะกิจการล้มละลายหรือไม่มีเงินทุนหมุนเวียนเนื่องจากสถาบันการเงินไม่ปล่อยกู้  ดังนั้น  การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจจึงติดลบถึง 10%   แต่ในปี 2551  นี้ผมเองก็ยังไม่เห็นว่าจะมีบริษัทขนาดใหญ่รายไหนที่กำลังประสบปัญหาทางการเงินไม่ต้องพูดว่าจะล้มละลาย   การที่บริษัทมีหนี้น้อย  และสถาบันการเงินก็ค่อนข้างเข้มแข็ง  ผมเชื่อว่าถึงแม้ในปีหน้ายอดขายของบริษัทต่าง ๆ   อาจจะเติบโตน้อยมากหรือไม่เติบโตเลย   ปัญหาที่บริษัทใหญ่ ๆ จะล้มละลายก็น่าจะมีโอกาสน้อยมาก   ข้อสรุปของผมก็คือ   ปีหน้า  เศรษฐกิจบ้านเราไม่น่าจะติดลบ   อย่างมากก็ชะลอตัวลงและการว่างงานจำนวนมากก็ไม่น่าจะเกิดขึ้น

ข้อดีของเศรษฐกิจหลังปี 2540 ก็คือ  เศรษฐกิจของประเทศพัฒนาทั้งหลายยังดีอยู่   ประกอบกับการที่ค่าเงินบาทอ่อนตัวลงมาก   ทำให้การส่งออกของไทยขยายตัวได้มากและกลายเป็นเครื่องจักรที่พาให้เศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว     ในปี 2551 นี้  ดูเหมือนว่าเศรษฐกิจทั้งโลกกำลังถดถอยลง  ดังนั้น  การส่งออกซึ่งรวมถึงการท่องเที่ยวจะต้องชะลอตัวลงอย่างมากและนี่คือสิ่งที่จะทำให้ภาคเศรษฐกิจที่แท้จริงชะลอตัวลง   แต่การลดลงของการส่งออกและการท่องเที่ยวจะมากขนาดที่ทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจติดลบนั้นผมก็คิดว่ายังไม่ถึงขนาดนั้น   ข้อสรุปของผมก็คือ  ปี 2552  นั้น  น่าจะดีกว่าปี 2541 มาก  ที่สำคัญก็คือ  ไม่น่าจะมีการล้มละลายของบริษัทและการตกงานอย่างกว้างขวางอย่างที่เคยเกิดขึ้น

ปี 2540 และหลังจากนั้นอีก 2-3 ปี  ทรัพย์สินเกือบทุกประเภทในเมืองไทย  เช่น  ที่ดิน  บ้าน  คอนโด  อพาร์ทเม้นท์   รวมทั้งหลักทรัพย์ที่เป็นกระดาษทั้งหลายต่างก็มีมูลค่าลดลงมหาศาล   ซึ่งแสดงให้เห็นว่าคนต้องขายของ  หนีตาย  แต่ในปี 2551  ผมก็ยังไม่เห็นว่าสินทรัพย์ที่คนไทยถืออยู่ฝ่ายเดียวเป็นหลัก   เช่นอสังหาริมทรัพย์  มีราคาลดลงเป็นเรื่องเป็นราว    ตรงกันข้าม   หลักทรัพย์ต่าง ๆ  เช่นหุ้นที่มีต่างชาติถือครองเป็นจำนวนมากกลับมีราคาลดลงถึงครึ่งหนึ่ง   นี่น่าจะแสดงว่าต่างชาติเป็นผู้ที่ขายหุ้น   หนีตาย  อาจจะด้วยเหตุผลว่าเขามีปัญหาหนักในบ้านเขาและจำเป็นต้องนำเงินกลับ  ดังนั้น  เขาขายทุกราคาโดยไม่สนใจพื้นฐานของกิจการหรือภาวการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศไทย   ข้อสรุปของผมก็คือ  ดัชนีหุ้นที่ลดลงขณะนี้   อาจจะไม่ได้เป็นดัชนีชี้นำที่แม่นยำว่าเศรษฐกิจของเมืองไทยในปีหน้าจะแย่มากเหมือนกับปี 2541 ที่เป็นปี  เผาจริงอย่างที่กลัวกัน 

และทั้งหมดนั้นก็นำมาสู่ข้อสรุปความเห็นของผม   นั่นก็คือ  ถ้าวิกฤติปี 2551  รุนแรงเท่าปี 2540  ดัชนีหุ้นในขณะนี้ก็น่าจะลงมาเกือบต่ำสุดแล้วและปีหน้าก็อาจจะนิ่ง ๆ  แต่ปี2553 ก็น่าจะให้ผลตอบแทนงดงาม   แต่ถ้าข้อเท็จจริงก็คือ   วิกฤติครั้งนี้เราอยู่ในสถานะที่ดีกว่าปี 2540 มากอย่างที่ผมเชื่อ   ซึ่งความจริงนี้จะค่อย ๆ  ปรากฏในปีหน้าที่มีการประกาศตัวเลขทางเศรษฐกิจและกำไรของบริษัทจดทะเบียนเป็นระยะ ๆ   ดัชนีหุ้นไทยก็น่าจะปรับตัวดีขึ้นมากและอาจจะเริ่มตั้งแต่ปีหน้าเป็นต้นไป    ดังนั้น  ในความรู้สึกของผมก็คือ   การลงทุนในตลาดหุ้นเวลานี้  โอกาสได้มีมากกว่าเสีย  และอาจจะถือว่าเป็นโอกาสทองยิ่งกว่าครั้งปี 2540  โดยเฉพาะสำหรับคนที่มีเงิน  เย็น ๆ  อยู่ในมือ 


3  พฤศจิกายน  2551

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น