วันเสาร์ที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2555

ซื้อขายหุ้นในยามวิกฤติ


ในยามเศรษฐกิจวิกฤตินั้น การซื้อขายหุ้นน่าจะต้องมีความแตกต่างจากการลงทุนในภาวะปกติอยู่บ้าง  ต่อไปนี้คือแนวทางที่ผมคิดว่าควรจะนำไปพิจารณาถ้าคิดจะซื้อหุ้นในยามนี้

ข้อแรก  บริษัทหรือกิจการที่เราจะลงทุนนั้น   เราจะต้องมั่นใจว่ามันจะไม่  เจ๊ง  หรือล้มละลายหรือต้องเพิ่มทุนมากมายเพื่อที่จะกู้ฐานะของกิจการ  นี่เป็นกฏที่สำคัญ  เพราะในยามวิกฤตินั้น  สิ่ง ที่น่ากลัวที่สุดก็คือการที่กิจการขาดสภาพคล่องและต้องเลิกกิจการหรือต้องมี การเพิ่มทุนที่ทำให้ส่วนของผู้ถือหุ้นเดิมมีมูลค่าลดลงมาก   และถ้าเราซื้อหุ้นไปแล้วเกิดสถานการณ์อย่างนั้น   ความเสียหายก็จะมหาศาล

ข้อสอง  วิธีที่จะทำให้เราปลอดภัยในการซื้อหุ้นลงทุน  นั่นคือ  ไม่ใช่ว่าซื้อแล้วหุ้นจะตกลงไปและเราก็กระวนกระวายใจไม่รู้ว่ามันจะกลับขึ้นมาเมื่อไรก็คือ  ต้องมองว่าอนาคตโดยเฉพาะในปีนี้หรือปีหน้า   กำไรของบริษัทจะต้องไม่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญหรือลดลงมาก   เพราะถ้าเป็นอย่างนั้น  ราคาหุ้นก็จะขึ้นไปยาก  เผลอ ๆ  จะลดลงไปอีก  และกว่าจะฟื้นได้ก็อาจจะใช้เวลานาน  ดังนั้น  ถ้าจะซื้อหุ้นแบบนี้   เราก็น่าจะรอไว้ก่อนได้  รอจนกว่าจะ   เห็นแสงที่ปลายอุโมง  ก่อนจะดีกว่า

ข้อสาม  ในยามที่หุ้นส่วนใหญ่ตกลงมามาก  หุ้นจำนวนมากกลายเป็นหุ้น  Value  ซึ่งรวมถึงหุ้นขนาดใหญ่ที่มีคุณภาพดี  มีความเข้มแข็งสูง  ดังนั้น  ความจำเป็นที่จะลงทุนในหุ้นขนาดเล็กที่ยังไม่ค่อยได้พิสูจน์ถึงคุณภาพของกิจการจึงมีน้อย  เช่นเดียวกัน  การลงทุนในหุ้นขนาดใหญ่ นั้น  ความเสี่ยงย่อมจะต่ำกว่าหุ้นขนาดเล็ก  ทั้งในเรื่องของผลประกอบการของกิจการเองและในเรื่องสภาพคล่องของหุ้น  พูดกันชัด ๆ  ก็คือ  ถ้าซื้อหุ้นขนาดเล็กแล้วพลาด   ความเสียหายบางทีจะสูงมาก  เพราะเวลาขายจะหาคนซื้อยากและราคาก็จะตกลงมากกว่าปกติ  นอกจากนั้น  ในเวลาที่ตลาดหุ้นฟื้นตัว  หุ้นขนาดใหญ่ก็มักจะปรับตัวขึ้นก่อน

สำหรับกลุ่มหุ้นที่น่าสนใจลงทุนในยามวิกฤติแบบนี้ก็คงจะมีมากมาย   ผมเองลองนึกดูก็พอจะบอกได้สามสี่กลุ่มดังต่อไปนี้
กลุ่มแรกก็คือกลุ่มที่มี  Monopoly Power หรือมีอำนาจผูกขาดทางการตลาดสูง  ข้อสังเกตก็คือ  บริษัทในกลุ่มนี้จะมีกำไรต่อเนื่องมานาน   อย่างไรก็ตาม  ในยามวิกฤติ  ยอดขายอาจจะตกลงไปมากทำให้กำไรลดลงมากหรืออาจจะขาดทุน  นี่ทำให้ราคาหุ้นตกลงไปมาก  แต่ถ้าเรามั่นใจว่าในอนาคตเศรษฐกิจจะต้องฟื้นและยอดขายของกิจการก็จะกลับมาอย่างน้อยเท่าเดิม  และกำไรก็น่าจะกลับมาเท่าเดิมได้  แบบนี้  เราก็สามารถที่จะเก็บหุ้นลงทุนได้  โดยที่ราคาหุ้นที่เราจะซื้อนั้น  อย่าง น้อยควรจะเท่ากับหรือต่ำกว่าครึ่งหนึ่งของราคาหุ้นของบริษัทก่อนที่จะเกิด วิกฤติ เมื่อซื้อแล้วก็รอจนกว่าเศรษฐกิจเริ่มดีขึ้นและยอดขายของกิจการฟื้นตัว   โดยที่กระบวนการนี้เราคาดว่าไม่น่าเกิน 4 -5 ปี ซึ่งก็ยังคุ้มค่า  เพราะการลงทุน 5 ปีแล้วราคาหุ้นขึ้นมาได้หนึ่งเท่าตัวนั้น  เท่ากับผลตอบแทนทบต้นปีละถึง 15%

กลุ่มที่สอง  นี่คือกลุ่มที่น่าจะปลอดภัยที่สุดแต่ผลตอบแทนอาจจะไม่หวือหวาเมื่อเทียบกับกลุ่มแรก  นี่คือหุ้นของกิจการที่ดีเยี่ยมหรือเป็น Super Company   บริษัทในกลุ่มนี้เป็นกิจการที่แข็งแกร่ง  มีความได้เปรียบคู่แข่งอย่างยั่งยืน  มียอดขายและกำไรที่เติบโตต่อเนื่องมายาวนาน  สินค้าทดแทนมีน้อยหรือไม่มี   ข้อสังเกตของกิจการในกลุ่มนี้ก็คือ  แม้ในยามที่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจ  ยอดขายก็ไม่ลดลงหรือยังเพิ่มขึ้น  เช่นเดียวกับกำไรที่มักจะยังรักษาอยู่ได้หรือเพิ่มขึ้น   และทั้งสองอย่างนั้น  ไม่ได้เกิดขึ้นจากรายการที่ผิดปกติหรือเป็นเรื่องของการลงบัญชีหรือเป็นกำไรที่เกิดจากการขายในอดีต  ถ้าเป็นแบบนี้  และราคาหุ้นตกลงมาหรือไม่ได้ปรับตัวขึ้นอย่างที่มันควรเป็น  การซื้อหุ้นแบบนี้ก็คือ  โอกาสในการซื้อหุ้น  Super Stock ในราคาถูกหรือราคายุติธรรม  ซึ่งก็จะเป็นแนวการลงทุนแบบที่  วอเร็น บัฟเฟตต์ ชอบใช้

กลุ่มที่สามที่ผมจะพูดถึงก็คือ  การเล่นหุ้น  Commodities หรือสินค้าโภคภัณฑ์  นี่จะเป็นการลงทุนประเภท  High Risk, High Return หรือเล่นแบบกล้าได้กล้าเสีย  เป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงสู่งแต่ก็คาดว่าจะได้ผลตอบแทนที่สูงกว่าปกติ   แนวความคิดนี้ก็คือ  ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ได้ปรับตัวลงมามากเนื่องจากภาวะวิกฤติเศรษฐกิจ  นั่นทำให้บริษัทที่ผลิตสินค้าโภคภัณฑ์เช่นน้ำมัน ปิโตรเคมี ต้องขาดทุนกันอย่างหนัก   ราคาหุ้นของบริษัทเหล่านั้นตกลงมามาก  แต่ราคาโภคคภัณฑ์เหล่านั้นเราเห็นว่าเริ่มอยู่ตัวแล้ว  ในอนาคต  โดยเฉพาะถ้าเศรษฐกิจฟื้นตัว  ราคาสินค้ามีแต่จะปรับตัวขึ้น  และเมื่อนั้น  บริษัทก็จะกลับมาทำกำไรได้อย่างงดงาม   และในกรณีที่ราคาสินค้าไม่ปรับตัวขึ้นเราก็ยังเห็นว่าบริษัทก็ยังสามารถทำกำไรได้   ในสถานการณ์แบบนี้  และราคาหุ้นของบริษัทได้ปรับตัวลงมาต่ำกว่าครึ่งหนึ่งของราคาหุ้นก่อนวิกฤติ    การซื้อหุ้นไว้ก็อาจจะทำให้เราสามารถทำกำไรรได้อย่างงดงาม  อย่างไรก็ตาม  ความเสี่ยงก็ยังมีอยู่ในกรณีที่ราคาโภคภัณฑ์อาจจะลดลงไปได้อีกเนื่องจากกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นในช่วงก่อนใกล้วิกฤติ   ดังนั้น  การวิเคราะห์ในเรื่องนี้จึงเป็นเรื่องจำเป็นเพื่อที่จะลดความเสี่ยงในการลงทุนลง

ทั้งหมดนั้นก็เป็นเพียงบางส่วนของกลยุทธ์ในการมองหาโอกาสจากวิกฤติ  ซึ่งถ้าทำดี ๆ  เราก็จะได้เงินมากและเร็วกว่าในภาวะปกติ  ความเสี่ยงนั้นมีแน่  แต่มักจะเป็นระยะเวลาสั้น ๆ  ไม่เกินหนึ่งหรือสองปี   ดังนั้น  คนที่จะลงทุนซื้อหุ้นในช่วงนี้จะต้องเข้าใจและทำใจให้ได้                      


18  พฤษภาคม  2552

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น