วันเสาร์ที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2555

มาร์ก โมเบียส


ราชาของตลาดหุ้นเกิดใหม่คนหนึ่งของโลกในยามนี้คงหนีไม่พ้นชื่อของ  Mark Mobius    ผู้บริหารกลุ่มกองทุน  Franklin Templeton Funds  ซึ่งประกอบไปด้วยกองทุนกว่า 30 กองในตลาดหุ้นเกิดใหม่ทั่วโลก   ผมเคยพบและพูดคุยกับ  ยูล บรินเนอร์  แห่ง วอลสตรีทคนนี้ตั้งแต่สมัยที่ผมยังเป็นผู้จัดการฝ่ายวางแผนและบริหารการเงิน ของบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยซึ่งเป็นตำแหน่งที่ต้องให้ข้อมูล แก่นักลงทุนคล้าย ๆ กับ  IR  หรือนักลงทุนสัมพันธ์ในปัจจุบัน    แต่เป็นช่วงเวลาย้อนหลังไปกว่า 20 ปีมาแล้ว    ซึ่งนั่นแสดงให้เห็นว่า  มาร์ก โมเบียส  เป็นผู้บุกเบิกการลงทุนในตลาดหุ้นเกิดใหม่อย่างแท้จริง   อย่างไรก็ตาม  ในขณะนั้นเขายังไม่ดัง และยังไม่แก่  แต่สิ่งที่ผมรู้สึกว่าเขาไม่เปลี่ยนแปลงเลยก็คือ   เขายังเฉียบคมเหมือนเดิม  เช่นเดียวกับศีรษะที่ยังล้านเลี่ยนแบบ  ยูล  บรีนเนอร์  ดาราฮอลลีวูดชื่อก้องโลก

ตลอดเวลากว่า 20 ปีที่ผมจำความได้   โมเบียสไม่เคยห่างจากตลาดหุ้นเกิดใหม่  โดยเฉพาะประเทศไทย   เขามา ๆ ไป ๆ  และผมเชื่อว่าเขารักเมืองไทยและเขาลงทุนในตลาดหุ้นไทยค่อนข้างมากเมื่อเปรียบเทียบกับกองทุนหุ้นอื่น ๆ     ในระยะหลัง ๆ  เขามาพูดในเมืองไทยบ่อยขึ้น   เมื่อเร็ว ๆ  นี้ก็ได้มาพูดที่สถาบันศศินทร์    ผมเองไม่ได้พบโมเบียสมานาน   แต่รู้สึกได้ว่าเขายังคงแข็งแร็งคึกคัก  ยังสามารถทำงานหนักและเดินทางไปทั่วโลกทั้ง    ที่มีอายุ  73 ปีเข้าไปแล้ว

ประวัติคร่าว ๆ  ของ  มาร์ก โมเบียส ก็คือ   เขาจบปริญญาตรีและโททางด้านการสื่อสารจาก  Boston University  แต่ที่น่าทึ่งก็คือ  ไปจบปริญญาเอกทางด้านเศรษฐศาสตร์จาก  MIT  ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยระดับต้น ๆ  ของโลกทางด้านเศรษฐศาสตร์และบริหารธุรกิจ    หลังจากนั้นเขาก็เข้าร่วมงานกับ เซอร์ จอห์น เทมเปิลตัน  ตำนานนักลงทุนผู้บุกเบิกการลงทุนในตลาดหุ้นเกิดใหม่ของโลก    เกียรติประวัติสำคัญของ  มาร์ก  โมเบียส  ก็คือ  เขาได้รับการโหวตให้เป็นหนึ่งในสิบนักลงทุนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของโลกในศตวรรษที่ยี่สิบจากนักลงทุนมืออาชีพ  300 คนที่ทำการสำรวจโดย  Carson Group ในปี  1999


ลองมาดูกฏการลงทุนต่าง ๆ  ที่ มาร์ก โมเบียส ใช้   กฏเหล่านี้ผมดึงมาจากหนังสือที่เขาเขียนชื่อ  Passport to Profits ซึ่งเขาเขียนถึงการลงทุนในตลาดเกิดใหม่ทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยในปี  1999  หรือ  สองปีหลังจากเกิดวิกฤติในเอเซียที่เริ่มจากประเทศไทย

กฎของโมเบียสข้อที่ 1.  การป้องกันที่ดีที่สุดของคุณก็คือ  การกระจายความเสี่ยงโดยการกระจายการลงทุน   กฎข้อที่ 2. ความผันผวนที่รุนแรงคือคุณสมบัติของตลาดหุ้นทุกแห่ง  ไม่เว้นแม้แต่ตลาดที่พัฒนาที่สุด  กฎข้อที่ 5.  ถ้าคุณตัดปัจจัยเรื่องของอารมณ์ออกไปและกลยุทธ์ของคุณอิงอยู่กับพื้นฐานระยะยาวแล้ว    คุณจะสามารถชนะทั้งในช่วงตลาดหุ้นตกและตลาดหุ้นขึ้น   กฎข้อที่ 7.  เวลาที่ย่ำแย่อาจจะเป็นเวลาที่ดี   กฎข้อที่  9. เมื่อข้อมูลที่จัดเตรียมโดยสถาบันระหว่างประเทศและรัฐบาลถูกเผยแพร่ออกมา   ราคาหุ้นก็สะท้อนข่าวสารเหล่านั้นไปหมดแล้ว   กฎข้อที่ 10.  ซื้อหุ้น  ดี  ในเวลาที่  แย่และซื้อหุ้น  แย่ในเวลาที่  ดี    กฎข้อที่ 11.  เวลาที่คนคิดว่าเลวร้ายมักจะเป็นเวลาที่ดี   กฎข้อที่  12.  หุ้นที่คนคิดว่าแย่มักจะดี

กฎข้อที่ 14.  คุณภาพของผู้บริหารเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่งยวด   กฎข้อที่  16.  การอดทนรอคอยให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่า  กฎข้อที่  18.  เวลาที่คนมองโลกในแง่ร้ายที่สุดคือเวลาดีที่สุดที่จะซื้อ   กฎข้อที่  19.  เวลาที่คนมองโลกในแง่ดีที่สุดคือเวลาดีที่สุดที่จะขาย   กฎข้อที่ 20.  ถ้าคุณสามารถเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมง  มันก็สายไปเสียแล้วที่จะซื้อ  /images/emoticons/mozilla_yell.gifหรือขาย)   กฎข้อที่ 22.  ซื้อหุ้นเมื่อราคาลง  ไม่ใช่ตอนขึ้น   กฎข้อที่  23. ถ้าตลาดตกลงไป 20%  หรือมากกว่าจากจุดสูงสุดและเราเห็นคุณค่าของหุ้น  ก็เริ่มทยอยซื้อได้   กฎข้อที่  24.  เวลารักษาความเจ็บป่วยได้เกือบทุกโรค

กฎของโมเบียสข้อที่  34.  ถ้าสินทรัพย์สุทธิหารด้วยจำนวนหุ้นของบริษัทได้ตัวเลขสูงกว่าราคาหุ้นในตลาด  คุณก็อาจพิจารณาได้ว่า  มันคือหุ้นที่มีราคาต่ำกว่าพื้นฐาน    กฎข้อที่ 38.  มองหาบริษัทระดับรองที่มี  Market Cap. หรือมูลค่าตลาดของหุ้นทั้งหมด  น้อย  แต่มีศักยภาพในการเติบโตสูง    กฎข้อที่  39.  รอให้ตลาดหุ้นเกิด  Panic  แล้วก็เข้าซื้ออย่างสงบเยือกเย็น   กฎข้อที่  42.  บ่อย ๆ  ที่ภาพใหญ่ขัดแย้งกับภาพเล็ก   กฎข้อที่  43.  โดยการศึกษาให้เข้าใจช่องว่างระหว่างภาพใหญ่และภาพเล็ก  คุณจะสามารถอยู่ในตำแหน่งที่นำหน้าฝูงชนได้   กฎข้อที่  45.  ตรวจสอบดูพอร์ตของตนเองอย่างละเอียด  หาหุ้นทั้งหมดที่เพิ่มขึ้นมากกว่า  100%  ในเวลาหนึ่งปีหรือน้อยกว่านั้นที่บริษัทมีกำไรเพิ่มขึ้นไม่มากเท่า   และการคาดการณ์ในอนาคต 5 ปีข้างหน้าก็ไม่ดี   พิจารณาขายหุ้นเหล่านั้นทิ้งเสีย   กฎข้อที่  46.  อย่ารักษาผลการลงทุนที่ดีเยี่ยมโดยการถือหุ้นบลูชิพตัวเก่าที่ไม่เป็นบลูชิพอีกต่อไปแล้ว   กฎข้อที่  47.  หากลุ่มหุ้นบลูชิพล็อตต่อไปก่อนที่มันจะเริ่มเป็นหุ้นบลูชิพ

และทั้งหมดนั้นก็เป็นเพียงบางส่วนของกฎของโมเบียสที่ประยุกต์ใช้กับตลาดเกิดใหม่ต่าง ๆ  ทั่วโลก   ประสบการณ์ ที่ยาวนานผ่านร้อนผ่านหนาวมามากคงทำให้โมเบียสเรียนรู้ประวัติศาสตร์ของตลาด หุ้นมากมายและทำให้เขาสามารถฉกฉวยโอกาสสำคัญครั้งแล้วครั้งเล่าโดยเฉพาะใน ช่วงที่เกิดวิกฤติตลาดหุ้นและการฟื้นตัวของมัน    ตัวอย่างที่เราเห็นก็อย่างที่เกิดขึ้นเมื่อประมาณ 2 เดือนที่ผ่านมา  โมเบียสได้ให้สัมภาษณ์และบอกอย่างชัดเจนว่า   เขาคิดว่าตลาดหุ้นกำลังจะบูมโดยเฉพาะในครั้งนี้จะนำโดยตลาดหุ้นเกิดใหม่    และแล้วตลาดหุ้นก็บูมจริง    และโมเบียสก็คงสามารถทำกำไรได้อย่างงดงามหลังจากที่เขาบาดเจ็บอย่างหนักก่อนหน้านั้น   และนี่อาจจะเป็นอย่างที่เขาพูดไว้ในกฎของโมเบียสข้อที่  70.  ที่ว่า  ในบางครั้งคุณอาจจะต้องทำได้แย่กว่าดัชนีตลาดหุ้นเพื่อที่ว่าคุณจะสามารถเอาชนะมันในอนาคต                         


25  พฤษภาคม  2552

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น