วันอาทิตย์ที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2555

ซื้อหุ้นต่างประเทศ


ในอดีตนั้น  การลงทุนในหุ้นสำหรับ Value Investor ค่อนข้างจำกัดอยู่ที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเท่านั้น  แต่ปัจจุบันเรามีทางเลือกที่จะลงทุนในหุ้นต่างประเทศได้  การลงทุนในต่างประเทศนั้น  ดูเหมือนจะไม่ได้ยากอย่างที่หลายคนอาจจะกลัวกันอีกต่อไป   เพราะปัจจุบันมีโบรกเกอร์  หลายรายให้บริการการซื้อขายหุ้นต่างประเทศสำหรับนักลงทุนรายย่อยที่มีเงินเพียงประมาณห้าแสนหรือหนึ่งล้านบาทขึ้นไป  การซื้อขายก็ทำกันทางอินเตอร์เน็ตที่ไม่ได้แตกต่างจากการซื้อขายหุ้นไทยเท่าใดนัก  ผมคงยังไม่วิจารณ์ว่า  Value Investor ควรจะลงทุนในหุ้นต่างประเทศหรือไม่  แต่อยากจะวิเคราะห์ถึงข้อดีและข้อเสียของการลงทุนในหุ้นต่างประเทศโดยเฉพาะในกรณีของการซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ของอเมริกาเป็นหลัก

ข้อดีข้อแรกของการลงทุนในตลาดหุ้นอย่างตลาดนิวยอร์กก็คือ  เรามีโอกาสในการเลือกลงทุนในหุ้นจำนวนมาก   นอกจากจำนวนของบริษัทที่มีมากมายแล้ว  เรายังมีโอกาสหาหุ้นที่มีลักษณะเฉพาะที่เราต้องการลงทุนได้มากมายซึ่งหาไม่ได้จากตลาดหุ้นไทย   ยกตัวอย่างเช่น  หุ้นของกิจการที่  ดีเยี่ยม  แบบ  “Great Company”  ที่มีโอกาสที่จะกลายเป็น  “Super Stock” ที่ให้ผลตอบแทนมหาศาลในระยะยาวอย่างที่ วอเร็น บัฟเฟตต์ ชอบลงทุนนั้น  ถ้าเรานำมาใช้ในตลาดหุ้นไทย  เราอาจจะหาได้ค่อนข้างยาก  แต่ในตลาดหุ้นสหรัฐนั้น  หุ้นที่มีคุณภาพสูงระดับโลกนั้นมีมากมายให้เลือก  ไล่ตั้งแต่หุ้น Google  ไปถึง  ไมโครซอพท์  ที่เป็นหุ้นไฮเท็ค ถึงหุ้นโค๊กที่เด่นทางด้านยี่ห้อ  และหุ้นที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจการเงินระดับโลกอย่างหุ้นที่ให้บริการบัตรเครดิตเช่น  หุ้นวีซ่า เป็นต้น

ข้อดีข้อสองก็คือ  ผลตอบแทนจากการลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐโดยเฉลี่ยในระยะยาวนั้นดูเหมือนจะสูงกว่าผลตอบแทนที่ได้จากตลาดหุ้นไทย  โดยที่ผลตอบแทนเฉลี่ยของหุ้นของอเมริกานั้นให้ผลตอบแทนประมาณปีละ 10-11%  ในขณะที่ตลาดหุ้นไทยน่าจะให้ผลตอบแทนประมาณปีละ 8-9%  ผลต่างประมาณปีละ 2%  นั้นในระยะยาวก็ถือว่าค่อนข้างต่างกันมาก  และนั่นก็อาจจะเป็นผลจากคุณภาพที่สูงกว่าของบริษัทจดทะเบียนในอเมริกาเทียบกับบริษัทไทย

ข้อดีข้อสามก็คือ  การลงทุนในตลาดหุ้นต่างประเทศด้วยนั้น  ช่วยลดความเสี่ยงในการลงทุนลง  เพราะการขึ้นลงของราคาหุ้นของไทยกับหุ้นต่างประเทศนั้นโดยทั่วไปมักจะไม่ตรงกัน  บางช่วงที่ตลาดหุ้นไทยคึกคัก  หุ้นต่างประเทศอาจจะซบเซา  และช่วงที่หุ้นต่างประเทศดี  หุ้นไทยอาจจะแย่  โดยรวมแล้ว  ถ้าเรามีหุ้นอยู่ในทั้งสองตลาด   ผลตอบแทนการลงทุนของเราจะมีความสม่ำเสมอขึ้นหรือก็คือความเสี่ยงลดลง

ข้อดีข้อที่สี่  ระบบบัญชีและการรายงานต่าง ๆ  ของบริษัทในอเมริกามีความโปร่งใสและผู้บริหารสามารถให้ข้อมูลแก่นักลงทุนได้มากกว่าบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทย  ยกตัวอย่างเช่น  ผู้บริหารสามารถคาดการณ์ผลประกอบการของบริษัทได้เป็นรายไตรมาศซึ่งทำให้นักลงทุนสามารถนำมาใช้ประกอบในการตัดสินใจซื้อขายหุ้นได้  นอกจากนั้น  สังคมของนักวิเคราะห์ที่มีการตรวจสอบอย่างเข้มข้นก็ทำให้การคาดการณ์ต่าง ๆ  เกี่ยวกับผลประกอบการมักจะไม่ค่อย  มั่ว   ถ้าผู้บริหารคาดการณ์ผิดบ่อยหรือผิดไปมากก็จะเสียเครดิต

ข้อเสียของการไปลงทุนนอกประเทศนั้นก็มีไม่น้อยกว่ากัน  ข้อแรกก็คือ  ความเข้าใจในตัวกิจการหรือบริษัทที่เราจะลงทุนในต่างประเทศนั้นอาจจะมีน้อยกว่าในกรณีของบริษัทในประเทศไทย  จริงอยู่  ข้อมูลที่เป็นตัวเลขหรือรายงานต่าง ๆ  ของบริษัทต่างประเทศอาจจะดี มีมาก  และหาได้ง่ายกว่าโดยที่เราเพียงแต่เข้าไปดูผ่านหน้าเว็บดัง ๆ  อย่าง  YAHOO FINANCE  ได้  แต่ข้อมูลที่เราจำเป็นต้อง สัมผัส  เช่นในเรื่องของผลิตภัณฑ์  การตลาด  หรือการพบปะกับผู้บริหารนั้น  เราไม่สามารถทำใด้  นอกจากนั้น  สำหรับหลายคนที่ภาษาอังกฤษยังไม่แข็งแรงพอ   การทำความเข้าใจในตัวบริษัทก็จะยากขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง

ข้อเสียข้อที่สองก็คือ   การซื้อขายหุ้นในตลาดหุ้นอเมริกามีต้นทุนค่าคอมมิชชั่นในการซื้อขายสูงกว่าในตลาดไทย  โดยที่ค่าคอมมิชชั่นรวมกับค่าบริการอื่น ๆ  แล้ว   อาจจะขึ้นถึง 0.5%  ในกรณีที่ซื้อขายครั้งละไม่มาก  ในขณะที่ของไทยอยู่ที่ประมาณ 0.2 - 0.27%  รวมภาษี  อย่างไรก็ตาม  ความแตกต่างนี้ก็อาจจะไม่ถึงกับมากถ้าเราไม่ได้ซื้อขายหุ้นบ่อย


ข้อเสียข้อสามก็คือ  การซื้อขายหุ้นในตลาดสหรัฐนั้น  เรามีความเสี่ยงเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างเงินดอลลาร์กับเงินบาทซึ่งคาดการณ์ไม่ได้  นอกจากนั้น  เราต้องมีการแลกเงินในกรณีซื้อขายครั้งแรกและตอนที่จะเอาเงินกลับซึ่งทำให้เราเสีย  Spread หรือส่วนต่างระหว่างราคาซื้อกับราคาขายเงินตราที่ธนาคารคิดกับเราซึ่งก็มักจะต่างกันพอสมควร

ข้อเสียที่สี่ก็คือ  การลงทุนในต่างประเทศนั้น  กฏก็คือ  ถ้าเราได้กำไรจากการขายหุ้นและนำเงินเข้ามาในประเทศในปีภาษีเดียวกัน  เราจะต้องนำกำไรที่ได้ไปคิดคำนวณเป็นรายได้ส่วนบุคคลที่จะต้องเสียภาษีรายได้ประจำปี   ดังนั้น  ถ้าไม่ต้องการเสียภาษีนี้ก็ต้องนำเงินเข้ามาในปีต่อไป  ซึ่งทำให้การโอนย้ายเงินไม่คล่องตัวนัก  

ข้อเสียสุดท้ายที่ผมจะพูดถึงก็คือ  ความเสี่ยงในเรื่องของกฏระเบียบและวิธีปฏิบัติโดยเฉพาะในเรื่องเกี่ยวกับภาษีต่าง ๆ   ของการลงทุนซื้อขายหุ้นในต่างประเทศ  ในขณะนี้อาจจะมีการสรุปแนวทางปฏิบัติเป็นที่ตกลงกันระหว่างโบรกเกอร์กับหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องกันแล้ว  แต่ก็เช่นเดียวกับอีกหลาย ๆ  เรื่อง    ความเห็นและความเข้าใจกันในวันนี้อาจจะไม่ได้รับการยอมรับหรือมีการเปลี่ยนแปลงเมื่อเวลาผ่านไปหรือมีเจ้าหน้าที่คนใหม่เข้ารับหน้าที่ต่อ  ความเสี่ยงตรงนี้ไม่มีใครบอกได้ว่าสูงต่ำแค่ไหน   แต่ถ้าเกิดขึ้น  ความยุ่งยากคงจะมีไม่น้อย   และนี่อาจจะเป็นข้อเสียที่สำคัญที่สุดข้อหนึ่งสำหรับคนที่ระมัดระวังและไม่ค่อยไว้วางใจกับระบบของราชการไทยอย่างผม

            กล่าวโดยสรุปสำหรับตัวผมเองนั้น  ในขั้นนี้ผมคงจะรอดูไปก่อน  และตราบใดที่ยังพอหาหุ้นดีที่คุ้มค่าน่าลงทุนในตลาดหุ้นไทยได้พอสมควรผมก็คงไม่ไปลงทุนในต่างประเทศ  อย่างไรก็ตาม  ผมคิดว่าการลงทุนในต่างประเทศนั้น  มีประโยชน์และมีคุณค่าพอสมควรทีเดียว   และวันหนึ่งก็อาจจะหนีไม่พ้นที่ผมจะต้องไปลงทุนด้วยเหมือนกัน


9  สิงหาคม  2552

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น