วันอังคารที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

ทศวรรษแห่ง VI



ผมเริ่มเป็นวิทยากรที่พูดเกี่ยวกับการลงทุนในตลาดหุ้น__แบบเน้นคุณค่า  หรือ Value Investment  มานานนับสิบปีแล้ว  สิ่งที่ผมสังเกตเห็นก็คือ  จำนวนคนที่สนใจเข้าฟังนั้น  เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ  และแทบจะเรียกว่า  อัดแน่น  ในช่วงหลัง ๆ   และแม้แต่ในช่วงปี 2551 หลังจากภาวะวิกฤติซับไพร์มในอเมริกาที่ทำให้ตลาดหุ้นตกลงมาอย่างหนัก  คนฟังก็ไม่ได้ลดลงมาซักเท่าไร  ซึ่งแตกต่างจากอดีตที่เคยเป็นว่า  เมื่อหุ้นขึ้นคนก็แห่กันมาฟังล้นห้อง  แต่ในยามที่หุ้นตก  ห้องสัมมนาก็แทบจะร้าง  ปรากฏการณ์นี้ทำให้ผมคิดว่า  สังคมของการลงทุนของคนไทยน่าจะกำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างลึกซึ้ง และการเปลี่ยนแปลงนี้เริ่มเกิดขึ้นหลังภาวะวิกฤติเศรษฐกิจในปี 2540  หรือจะพูดให้ถูกต้องขึ้นไปอีกก็คือประมาณปี 2543 ที่เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวและราคาหุ้นตกต่ำถึงพื้น  อะไรคือการเปลี่ยนแปลงที่ว่านี้?

ประการแรกก็คือ  คุณสมบัติของนักลงทุนหรือคนที่เข้ามาฟังการสัมมนา  ก่อนปี 2540 นั้น  คนที่ฟังการสัมมนาคือ คนเล่นหุ้น  นี่คือกลุ่มคนที่กล้าเสี่ยง  กล้าได้กล้าเสีย  มักจะเป็นคนที่ประกอบการธุรกิจขนาดย่อม  ซึ่งแน่นอน  โดยสัญชาติญาณของความเป็นพ่อค้าย่อมที่จะกล้าเสี่ยงมากกว่าคนกลุ่มอื่น  กลุ่มต่อมาก็คือ  แม่บ้านที่มีฐานะปานกลางที่มีเวลาว่างหรือไม่มีอะไรทำและเข้ามาเสี่ยงโชคในตลาดหุ้น  บางคนก็อาจจะชอบเล่นการพนันอย่างอื่นเช่นเล่นไพ่กับขาประจำอยู่แล้ว  นี่ก็เป็นกลุ่มที่ลงทุนด้วยเงินที่ไม่มากเมื่อเทียบกับกลุ่มผู้ประกอบธุรกิจที่มักจะเป็นผู้ชายที่เล่นหุ้นอย่างเอาจริงเอาจังมากกว่า  กลุ่มที่สามก็คือ  กลุ่มพนักงานตามสำนักงานโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ทำงานในแวดวงการเงิน  เช่นพนักงานของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์หรือพนักงานธนาคาร  ที่มีความรู้เกี่ยวกับตลาดหุ้นดีกว่าคนทั่วไปและมีข้อมูลที่มากกว่า    พวกเขาเล่นหุ้นเพราะเห็นโอกาส  ทำกำไรง่าย ๆ  ที่เขาพบเห็นในบางช่วงเวลาและสุดท้ายก็คือเซียนหรือกลุ่มขาใหญ่ที่มีเม็ดเงินมากและมักจะทำการซื้อขายนำเพื่อ  ทำราคาหุ้น  บางคนก็  ปั่นหุ้น  เพื่อทำกำไรมหาศาลในเวลาอันสั้น

นักลงทุนที่ผมเห็นในที่สัมมนาใน พ.ศ. นี้  ส่วนมากน่าจะเป็นคนทำงานกินเงินเดือนที่เป็นคนชั้นกลาง   พวกเขากำลังอยู่ในวัยที่กำลังทำงานเก็บเงินเพื่ออนาคตและคิดว่าการลงทุนโดยเฉพาะในหุ้นนั้น   เป็นหนทางที่ดีกว่าการฝากเงินหรือลงทุนอย่างอื่น  พวกเขาไม่ใช่คน  ชอบความเสี่ยง  แบบผู้ประกอบการ  แต่ก็พร้อมจะเสี่ยงด้วยเงินจำนวนหนึ่ง  พวกเขาเชื่อว่าการลงทุนในหุ้นเป็นสิ่งที่  คุ้มค่ากับความเสี่ยง  และเขารับมันได้  การที่ได้เรียนรู้และจากประสบการณ์สั้น ๆ  ที่ผ่านมาช่วยให้พวกเขามั่นใจและเข้ามาลงทุนในหุ้น   ภาพของหุ้นที่เป็นตราสาร เก็งกำไร  นั้นเปลี่ยนไป  การลงทุนในหุ้นสำหรับคนจำนวนไม่น้อยนั้น  เป็นการลงทุน ทำธุรกิจ  พวกเขารู้และคิดว่าถ้าเราเป็น  “VI”  หรือเป็นนักลงทุนเน้นคุณค่า  พวกเขาน่าจะปลอดภัยและได้ผลตอบแทนที่ดีพอสมควร

กลุ่มนักลงทุนรุ่นใหม่อีกกลุ่มหนึ่งก็คือกลุ่มของเจ้าของกิจการที่มีฐานะร่ำรวยพอสมควร  บางคนก็ร่ำรวยมากระดับเศรษฐีหรือมหาเศรษฐี  ซึ่งก็รวมถึงลูกที่เรียนจบและเริ่มทำงานหรือทำงานมาได้ระยะหนึ่งแล้ว   คนกลุ่มนี้  ตั้งแต่ภาวะวิกฤติเศรษฐกิจในปี 2540 พวกเขา รอดมาได้  และในช่วง 10 ปีที่ผ่านมากลับรุ่งเรืองและที่สำคัญยิ่งกว่าก็คือ  มีเงินสดเหลือมากมาย  พวกเขาต้องทนฝากเงินกินดอกเบี้ยในอัตราที่ต่ำมานาน  ดังนั้น  เมื่อเห็นราคาหุ้นในตลาดที่เพิ่มขึ้นเรื่อย    ติดต่อกันมานานหลายปี  เขาก็เริ่มเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้น  พวกเขาเริ่มเรียนรู้ว่าหุ้นก็คือธุรกิจเหมือนกับที่เขาทำอยู่  ซื้อหุ้นก็เหมือนซื้อธุรกิจ  กำไรจากการลงทุนในตลาดหุ้นของพวกเขาที่ผ่านมาไม่กี่ปีนั้น  ดีและเร็วกว่าธุรกิจของตนเองมาก  ดังนั้น  ตลาดหุ้นสำหรับพวกเขาไม่ใช่ แหล่งการพนันอีกต่อไป  พวกเขาอาจจะเรียกและคิดว่าตนเองเป็น  “VI”  ไม่ได้ซื้อหุ้นมั่ว ๆ  ไม่มีพื้นฐาน  และนี่ก็คือกลุ่มนักลงทุนที่มีเม็ดเงินและศักยภาพมหาศาลที่สามารถขับเคลื่อนหุ้นโดยเฉพาะที่ไม่ได้มีขนาดใหญ่มากนักได้

กลุ่มสุดท้ายก็แน่นอน  ยังเป็นกลุ่มเดิม ๆ  ที่เป็นแม่บ้าน  และผู้ประกอบการรายย่อยจริง ๆ  ที่ยังเน้นการเล่นหุ้นรายวันและมักจะอยู่ตามห้องค้า  กลุ่มนี้ผมเห็นน้อยลงไปมากในห้องสัมมนา  สิ่งที่เปลี่ยนไปก็คือ  พวกเขาหันมาเล่นหุ้น  “VI”  ตามการเล่นของคนกลุ่มอื่น ๆ   ประเด็นที่สำคัญสำหรับกลุ่มนักลงทุนรุ่นดั้งเดิมก็คือกลุ่มนักลงทุนที่เรียกว่า  ขาใหญ่  นั้น  ในยุคสมัยใหม่นี้  ขาใหญ่จำนวนมากได้ ล้มหายตายจาก  ไป  แต่ที่ยังอยู่และยังร่ำรวยเหมือนเดิมหรือรวยยิ่งขึ้นนั้น  ส่วนใหญ่ได้เปลี่ยนแปลงไป  หลายคนกลายเป็น  “VI เต็มตัว    หลายคนแม้ว่ายังชอบที่จะ เล่นเร็วและไล่ราคา  แต่การทำอย่างนั้นก็มักจะทำกับหุ้นที่เป็น  “VI” พวกเขายอมรับว่า  VI นั้น  เป็น กระแส  ที่ไม่สามารถจะฝืนได้  การเล่นหุ้นหรือทำราคาหุ้นโดย  ไม่มีเหตุผล  ทางด้านพื้นฐานมาสนับสนุนนั้นจะสำเร็จได้ยาก
ถ้าจะพูดว่า  ถนนทุกสายมุ่งสู่ VI”  ก็ไม่น่าจะเกินความเป็นจริง  และนั่นทำให้หุ้น  “VI” ค่อย ๆ  ปรับตัวขึ้นไปเรื่อย ๆ  หุ้นเหล่านี้มักเป็นหุ้นตัวเล็กหรืออย่างมากก็ระดับกลางค่อนไปทางเล็ก  แต่เนื่องจากเม็ดเงินที่เข้ามาเล่นหรือซื้อหุ้นเหล่านี้ไม่ได้เล็ก   นักลงทุนบางคนหรือบางกลุ่มนั้นมีพอร์ตการลงทุนที่สามารถซื้อหุ้นได้ทั้งบริษัทอย่างง่าย ๆ  ดังนั้น  หุ้น “VI”  จำนวนมากจึงปรับตัวขึ้น  ตัวแรกปรับขึ้นไปจนราคาขึ้นไปสูง  อาจจะ เต็มมูลค่า  จึงถูกขายไป  เม็ดเงินที่ได้กำไรจากการขายหุ้นของ VI ที่  มาก่อน  ก็เข้าไปซื้อหุ้น  “VI”  ตัวใหม่  ทำให้ราคาหุ้นตัวใหม่ปรับขึ้นไป  สิ่งนี้ชักจูงให้เม็ดเงินใหม่จากนักลงทุนรายใหม่เข้ามาซื้อ  ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นไปอีก  ในไม่ช้า  หุ้น “VI”  ในตลาดก็เริ่มแพงขึ้นเรื่อย ๆ  จนหมดสภาพเป็นหุ้น  “VI”  กระบวนการทั้งหมดนั้น  แทบไม่ได้เกี่ยวข้องกับดัชนีตลาดเท่าไรนัก  เพราะหุ้นตัวใหญ่ ๆ  ที่ชี้นำดัชนีได้จริง ๆ   นั้น  ไม่ได้อยู่ในสายตาของเหล่านักลงทุนที่เป็น “VI” เลย  ดังนั้น  ผลตอบแทนที่ทำได้ของนักลงทุน VI บางคนจึงสูงกว่าดัชนีมาก  และหลายครั้งก็ไม่ได้ปรับตัวตามตลาดมากนัก

ความสำเร็จของนักลงทุน VI ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมานั้น  ผมอยากเรียกมันว่าเป็น  ปรากฏการณ์  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ที่ตลาดหุ้นมีการปรับตัวขึ้นมาสูงมากกว่าร้อยเปอร์เซ็นต์  แต่สำหรับ VI บางคนแล้ว  พวกเขาอาจจะกำไรมากเสียจน  รวยไปเลย   VI บางคนอายุยังน้อยมากและเพิ่งเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไม่กี่ปีแต่กลับมีเงินหลายสิบล้าน  บางคนมีหลายร้อยล้านจากการลงทุน   บางคนที่เริ่มต้นด้วยเงินจำนวนมากจากธุรกิจที่บ้านก็กลายเป็นเศรษฐีพันล้าน  ได้ในเวลาอันรวดเร็ว   แต่แม้จะไม่พูดถึงคนที่รวยเป็นเรื่องเป็นราว  นักลงทุน  “VI”  รายย่อยที่เป็นคนกินเงินเดือนและต้องเก็บเงินจากเงินเดือนมาลงทุน  หลาย ๆ  คนก็กลายเป็นคนที่มีเงินหลายล้านบาทและรู้สึก  แตกต่าง  จากเพื่อนที่ไม่ได้ลงทุนในตลาดหุ้นอย่างเห็นได้ชัด  ข้อสรุปของผมก็คือ  นี่คือยุคทองของ VI และผมอยากเรียกมันว่า  10 ปีที่ผ่านมานั้นเป็น  ทศวรรษแห่ง VI”

แต่ยุคแห่งความรุ่งเรืองนั้น  วันหนึ่งก็จะต้องผ่านไป  ชีวิตที่ได้เงินมามากและง่ายนั้นไม่สามารถดำรงอยู่ได้ตลอดไป  เพราะคนใหม่ ๆ  ก็จะเข้ามาทำบ้าง  และในกระบวนการนั้นก็ทำให้วิธีการหาเงินแบบนั้นไร้ผล  ผมไม่รู้ว่า  ทศวรรษแห่งความรุ่งเรืองของ VI” จบสิ้นแล้วหรือยัง  เหตุการณ์หลาย ๆ  อย่างที่เกิดขึ้นเร็ว ๆ  นี้ชี้ให้เห็นว่า  บางทีการเป็น  “VI” แบบไม่ค่อยได้ศึกษาหรือลงแรงอย่างจริงจังนั้นแทนที่จะกำไรอาจจะขาดทุนอย่างหนักได้    แต่ไม่ว่ายุคสมัยจะเป็นอย่างไร  VI ก็ยังเป็นแนวคิดและวิธีการที่ดีเสมอตราบที่เราใช้มันอย่างถูกต้อง         
6 กันยายน  2554

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น