วันศุกร์ที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2555

ข้อมูลที่ลำเอียง



เวลาที่รับข้อมูลเข้ามา  สิ่งที่ Value Investor จะต้องพิจารณาก่อนที่จะนำไปใช้หรือนำไปวิเคราะห์ต่อก็คือ  ข้อมูลนั้นน่าจะถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง  ถ้าไม่ถูกต้อง  มันน่าจะมากหรือน้อยเกินไป  ดีเกินไปหรือแย่เกินไป  วิธีที่จะดูนั้น  หลักการสำคัญก็คือ  ดูว่าคนให้ข้อมูล รู้จริงหรือมีข้อมูลจริงไหม  นอกจากนั้น  สิ่งที่สำคัญมากอีกข้อหนึ่งก็คือ  คนที่ให้ข้อมูลมี แรงจูงใจอะไรในการที่ให้ข้อมูลนั้น

เวลาที่มีนักเศรษฐศาสตร์มาบอกหรือพยากรณ์ภาวะเศรษฐกิจ  ถ้าเขามาจากหน่วยงานที่มีนักเศรษฐศาสตร์ที่มักจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลก  และหน่วยงานนั้นไม่ได้อิงกับการเมืองในทางใดทางหนึ่ง  ในกรณีแบบนี้  พวกเขาก็จะมีทั้งความรู้  ข้อมูล และไม่มีความ ลำเอียงในการให้ความเห็นหรือพยากรณ์ ข้อมูลที่เราได้น่าจะเป็นข้อมูลที่เรานำไปใช้ได้อย่างสบายใจ อย่างไรก็ตาม พึงระลึกเสมอว่า การพยากรณ์เป็นศาสตร์ที่มีความไม่แน่นอนสูง แม้แต่นักเศรษฐศาสตร์ที่เก่งที่สุดในโลกก็มักจะทำนายผิดอยู่บ่อยๆ ดังนั้น เวลาที่เราอ่านหรือฟังคำพยากรณ์เกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจ  ผมคิดว่าเราอย่าไป เชื่ออย่างปักใจว่ามันจะถูกต้องแม้ว่าแหล่งข้อมูลหรือคนที่ให้ข้อมูลจะเป็นที่น่าเชื่อถือมาก ๆ 

นักเศรษฐศาสตร์หรือหน่วยงานที่อิงกับการเมืองในทางใดทางหนึ่ง  อาจจะให้ความเห็นหรือพยากรณ์ภาวะเศรษฐกิจโดยมีความ ลำเอียง”  ทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว  ความลำเอียงที่ว่านั้นมักจะออกมาในด้านที่ดีกว่าความเป็นจริง  เหตุผลก็คือ  ฝ่ายการเมืองนั้น  อยากจะให้ภาพเศรษฐกิจที่ดี ๆ  เพราะนั่นคือ  ผลงาน”  ของเขาในการบริหารเศรษฐกิจของประเทศ   ดังนั้น  เวลาดูหรืออ่านข้อมูลเกี่ยวกับเศรษฐกิจจากหน่วยงานรัฐ  เราจึงควรจะดูว่ามันมาจากหน่วยงานไหน   ในแวดวงของนักเศรษฐศาสตร์กันเองนั้น  บางทีก็มีการพูดกันว่า  ถ้ามาจากหน่วยงานนี้  ตัวเลขมักจะดูมองโลกในแง่ดีกว่าอีกหน่วยงานหนึ่งเสมอจนแทบจะเป็น ธรรมเนียม

ผู้บริหารหรือผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทจดทะเบียนนั้นมักจะให้ข้อมูลและคาดการณ์ผลประกอบการของบริษัทในด้านที่ดีกว่าความเป็นจริงเสมอ   เริ่มตั้งแต่ความสามารถในการแข่งขันของบริษัทเมื่อเทียบกับคู่แข่ง  ผมพบว่าแทบไม่มีบริษัทไหนบอกว่าตนเองนั้นฝีมือต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรม  ว่าที่จริงแทบทุกบริษัทจะบอกว่าตนเองเป็นบริษัทระดับต้น ๆ  ของอุตสาหกรรม  บางบริษัทบอกว่าตนเองนั้นเป็นบริษัทที่เด่นมากในการผลิตหรือการดำเนินงานที่คู่แข่งไม่สามารถเข้ามาแข่งขันได้  พวกเขาอาจจะไม่ได้โกหก  แต่พวกเขามักจะลำเอียงทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว  แต่ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร  ด้วยท่าทีที่มั่นอกมั่นใจและด้วยความรู้ที่มีมากกว่าคนฟังหรือนักวิเคราะห์ของผู้บริหาร ทำให้คนฟังมักจะเชื่ออย่างสนิทใจว่ามันเป็นเรื่องจริง เหนือสิ่งอื่นใดก็คือข้อมูลผลประกอบการที่ ดี ๆในช่วงที่ผ่านมาเร็ว ๆ นี้  ที่แสดงให้คนฟังเห็น  มักจะเป็นเครื่องยืนยันว่าสิ่งที่ผู้บริหารพูดนั้น  เป็นความจริงอย่างแน่นอน

ภาพในอนาคตของบริษัทที่ผู้บริหารแถลงออกมานั้น  มักจะยิ่งสดใสกว่าความเป็นจริง  ผู้บริหารมีแรงจูงใจที่จะวาดภาพบริษัทให้ดูดี  เพราะเขามีแรงจูงใจหลาย ๆ  อย่าง  เช่น  เขาอยากจะเป็นผู้บริหารที่มีความสามารถได้รับการยกย่อง  หรือ  ผู้บริหารที่เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทอาจจะอยากให้คนมาซื้อหุ้นทำให้ราคาขึ้นไปและเขาอาจจะขายได้ราคาสูง  เหล่านี้เป็นต้น

ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะประเมินว่าผู้บริหารพูด  เว่อร์”  หรือลำเอียงมากไปแค่ไหน  เหตุผลเพราะเราไม่ได้อยู่ในธุรกิจหรือเราไม่สามารถหาข้อมูลได้มากพอที่จะตัดสิน  นักวิเคราะห์หรือนักลงทุนบางคนใช้วิธีดูผลงานที่ผ่านมาเทียบกับสิ่งที่ผู้บริหารเคยพูดไว้ว่าตรงหรือใกล้เคียงไหม  ซึ่งผมคิดว่าเป็นวิธีที่พอใช้ได้  อย่างไรก็ตาม  บางบริษัทอาจจะไม่มีข้อมูลที่ยาวพอ  ทำให้เราใช้ข้อมูลนี้ได้ยาก  วิธีที่น่าจะดีกว่าก็คือ  ผมจะมองไปถึง โครงสร้างของอุตสาหกรรม”  ว่าบริษัททำธุรกิจอะไร  ปัจจัยในการแข่งขันในอุตสาหกรรมเป็นอย่างไร  บริษัทอยู่ในตำแหน่งไหนได้เปรียบหรือเสียเปรียบคู่แข่งขันอื่นและการได้เปรียบนั้นเป็นการได้เปรียบชั่วคราวหรือถาวร  สุดท้ายยังต้องดูอีกว่าในอนาคต 3-4 ปีขึ้นไป  จะมีผู้เล่นรายใหม่ ๆ  มาแข่งขันด้วยหรือไม่  สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้จะเป็นตัวบอกว่า  คำคุย”  ของผู้บริหารจะเป็นจริงหรือไม่  พูดง่าย ๆ  ในการวิเคราะห์ว่าผู้บริหารลำเอียงไปมากน้อยแค่ไหน  ผมจะพยายามตัดประเด็นเรื่องฝีมือของผู้บริหารออก  แล้วมาดูในด้านของตัวอุตสาหกรรมและตำแหน่งของบริษัทในอุตสาหกรรมเป็นหลัก  ถ้าตำแหน่งของบริษัทแย่หรือเสียเปรียบ  แต่ผู้บริหารบอกว่าบริษัทของตนจะเอาชนะและแย่งชิงธุรกิจได้มากกว่าคู่แข่งมากด้วยเพราะฝีมือของผู้บริหารหรือพนักงาน  ผมก็จะไม่มั่นใจเลยว่าเขาจะทำได้

โบรกเกอร์และนักวิเคราะห์ของบริษัทหลักทรัพย์นั้น  เราต้องรู้ว่าเขามีความลำเอียง  ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่  ที่จะให้เราซื้อ ๆ  ขาย ๆ  หุ้นมากกว่าปกติ  ดังนั้น  เขาก็มักจะชอบแนะนำหุ้นที่กำลังมีราคาและปริมาณการซื้อขายหุ้นที่ปรับตัวสูงขึ้นมากอย่างรวดเร็ว  ดังนั้น  การให้ความเห็นเกี่ยวกับหุ้นจึงมักเป็นการแนะนำให้ซื้อหุ้นที่กำลังร้อนแรงและราคาอาจจะสูงเกินพื้นฐานไปแล้ว   แต่ในความเห็นของเขานั้นกลับเห็นว่าหุ้นยังต่ำกว่าพื้นฐานและน่าลงทุนทั้ง ๆ  ที่ก่อนหน้าที่หุ้นจะร้อนและราคาหุ้นยังต่ำอยู่  พวกเขาไม่เคยพูดถึงเลยว่าเป็นหุ้นที่น่าสนใจ  ข้อเตือนใจของผมสำหรับเรื่องนี้ก็คือ  ราคาหรือมูลค่าพื้นฐานของหุ้นที่เกิดจากการคำนวณของนักวิเคราะห์นั้น  ส่วนใหญ่แล้วเป็น  มูลค่าในจินตนาการ”  หมายความว่า  คุณอาจจะให้ค่าเท่าไรก็ได้จากราคาเช่น  10 บาท ถึง 40 บาท ขึ้นอยู่กับว่าคุณจะตั้งสมมุติฐานอย่างไรหรือให้คุณค่ากับบริษัทมากน้อยแค่ไหน  ในยามที่ราคาและปริมาณการซื้อขายหุ้นร้อนแรง  คุณจะให้ราคา 40 บาท  คนก็เชื่อ  แต่ในยามที่หุ้นตัวนั้นเงียบเหงานั้น  บางทีคุณบอกว่า 10 บาท  คนก็ยังบอกว่าไม่น่าสนใจ

เรื่องความลำเอียงในตลาดหุ้นนั้น  ผมคิดว่ายังมีอีกมาก  สิ่งที่เราควรเข้าใจก็คือ  ตลาดหุ้นนั้น  เป็นที่อยู่ของคนที่มักจะมองโลกในด้านที่บวกสูงกว่าคนปกติ  เป็นที่อยู่ของคนที่มีความหวังหรือความฝันที่สูงกว่าคนทั่วไป  พวกเขาฝันที่จะรวยอย่างรวดเร็วหรือสามารถทำเงินได้เป็นกอบเป็นกำ  ไม่ว่าเมื่อวานตลาดหุ้นจะเลวร้ายแค่ไหน  ก่อน 10 โมงเช้าที่ตลาดเปิด  คนเล่นหุ้นก็มักจะมีความหวังเสมอ  การมองโลกที่สดใสกว่าปกตินั้น  ผมคิดว่าทำให้คนในตลาดหุ้นส่วนใหญ่มี  ความลำเอียง”  ที่จะมองการลงทุนหรือการซื้อขายหุ้นในแง่ที่ดีกว่าความเป็นจริง  ถ้าลองถามคนที่ลงทุนเล่นหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ว่าเขาคิดว่าจะได้รับผลตอบแทน  ปีนี้กี่เปอร์เซ็นต์  ผมเชื่อว่าคำตอบเฉลี่ยคงเป็นอย่างน้อย 20-30% ขึ้นไป  ทั้ง ๆ  ที่ผลตอบแทนต่อปีในอดีตของตลาดหุ้นนั้นเท่ากับประมาณ 10% เท่านั้น

ในฐานะของ Value Investor  เราต้องพยายาม ฉีก”  ตนเองออกจาก ตลาด”  ความหมายก็คือ  เราต้องเข้าใจเรื่อง ความลำเอียงทั้งหลายที่เกิดขึ้นจากเหตุจูงใจต่าง ๆ  และธรรมชาติบางอย่างของคนโดยเฉพาะที่อยู่ในตลาดหุ้น  การอ่านหรือฟังข้อมูลนั้น  เราต้องรู้  เบื้องหลัง”  หรือ  วาระซ่อนเร้น”  ที่อาจจะมีอยู่  เพื่อที่ว่าเราจะได้นำข้อมูลที่ได้รับมา ปรับ”  ให้ถูกต้องใกล้เคียงขึ้น  การรับข้อมูลโดยไม่พิจารณาเพิ่มเติมนั้นเป็นอันตรายอย่างใหญ่หลวง  เพราะบางครั้งมันอาจจะหมายถึงการที่เราถูก  หลอก”  ให้สำคัญผิดใน  พื้นฐาน ของบริษัท ซึ่งทำให้การตัดสินใจของเราผิดพลาดและเกิดความเสียหายร้ายแรงได้    
     
4  กรกฎาคม  2554

หุ้นสถาบันการเงิน



หุ้นในกลุ่มสถาบันการเงินที่ผมจะพูดถึงนั้น  ผมรวมถึงกลุ่มต่อไปนี้คือ  1)  กลุ่มที่เป็นธนาคารพาณิชย์  2)  กลุ่มที่ทำธุรกิจเช่าซื้อและลีสซิ่ง ซึ่งก็คือบริษัทที่ปล่อยกู้ให้กับลูกค้าเพื่อซื้อสินค้าเงินผ่อนทั้งหลาย  3) กลุ่มบริษัทหลักทรัพย์ที่ให้บริการเกี่ยวกับการซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์  และ 4) กลุ่มบริษัทประกันภัยและประกันชีวิต   ทั้งหมดนี้ผมแทบไม่ได้ซื้อหุ้นเพื่อลงทุนเลยในระยะสิบปีที่ผ่านมาเพราะผมเห็นว่าหุ้นในกลุ่มเหล่านี้มีความเสี่ยงที่ผมไม่ใคร่สบายใจนักที่จะลงทุนระยะยาว  และต่อไปนี้คือความคิดของผม

    ก่อนที่จะพูดถึงความเสี่ยงผมอยากจะบอกว่า  ที่จริงหุ้นในกลุ่มสถาบันการเงินนั้นส่วนใหญ่มีผลประกอบการที่ดีน่าประทับใจ  ถ้าดูจากกำไรต่อส่วนของผู้ถือหุ้นก็จะเห็นว่าหุ้นเหล่านี้มีผลกำไรอยู่ในเกณฑ์ที่สูงลิ่วเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของหุ้นในอุตสาหกรรมอื่น ๆ ในตลาดหลักรัพย์   และเมื่อมองดูถึงความสม่ำเสมอของกำไรก็เห็นว่าบริษัทเหล่านั้นทำได้ค่อนข้างดีพอจะบอกได้ว่าเป็นผลประกอบการที่สามารถคาดการณ์ได้   ประกอบกับการที่บริษัทเหล่านี้มีลูกค้าเป็น  ล้าน ๆ”  คน  ดังนั้น  ความผันผวนของรายได้ก็มักจะมีน้อย  ข้อสรุปก็คือ  โดยทั่วไปแล้ว  เราสามารถหา มูลค่าที่แท้จริงของกิจการ  ได้ไม่ยากนักเทียบกับกิจการอื่น ๆ  อีกหลายอย่าง  พูดง่าย ๆ  สามารถใช้ค่า PE และ/หรือ PB มาวัดค่าความถูก/แพงของหุ้นได้

    ข้อดีของหุ้นสถาบันการเงินอีกอย่างหนึ่งก็คือ  ส่วนใหญ่แล้วบริษัทเหล่านั้นมีกฎหมายและหน่วยงานของรัฐควบคุมอย่างเข้มงวด   ดังนั้น  ข้อมูลต่าง ๆ  ของบริษัทโดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อมูลเกี่ยวกับบัญชีการเงินนั้นค่อนข้างที่จะเชื่อถือได้  เช่นเดียวกัน   ผู้บริหารไม่สามารถนำเงินไป ถลุง”  ในกิจการอื่น ๆ  ที่ไม่เกี่ยวข้องได้ง่ายนัก   อีกเรื่องหนึ่งก็คือ  นโยบายจ่ายปันผลก็มักจะดีเหตุเพราะว่าบริษัทเหล่านี้มีเงินสดเหลือเฟือที่จะจ่ายปันผล  และที่น่าสนใจสุดยอดอีกอย่างหนึ่งก็คือ  หุ้นเหล่านี้  จำนวนมากมีค่า PE และ PB ไม่สูง  บางบริษัทต่ำมาก  ดูไปแล้วน่าจะเป็นหุ้นที่เข้าข่ายเป็นหุ้น  “Value”  ที่น่าซื้อลงทุนระยะยาว  แต่สิ่งที่ทำให้ผมไม่สบายใจนักที่จะลงทุนในหุ้นกลุ่มสถาบันการเงินก็คือ
    ประการแรก  หุ้นสถาบันการเงินยกเว้นบริษัทหลักทรัพย์นั้น  มีการกู้หรือรับฝากเงินจำนวนมาก  อัตราการกู้ยืม  ในกรณีธนาคารพาณิชย์นั้นสูงมาก  อาจจะเป็นเกือบสิบเท่าของเงินในส่วนของผู้ถือหุ้น  การกู้มากนั้นเป็นความเสี่ยงมหาศาล  เพราะถ้าเงินที่กู้มาและนำไปปล่อยกู้หรือลงทุนต่อเกิดเสียหายกลายเป็น NPL หรือหนี้สูญเพียงแค่ 10%  แบงค์นั้นก็หมดทุนหรือล้มแล้ว  จริงอยู่ที่ว่าอัตราการเกิด NPL ของแบงค์ในภาวะปกตินั้นมักจะมีน้อยมาก  อาจจะเพียง 1-2%  และแบงค์ก็มักจะมีการกันสำรองหนี้สูญทุกปีจนเพียงพอหรือเกินพอ  แต่นั่นก็คือสภาวการณ์  ปกติ”   แต่ในสถานการณ์  วิกฤติ”  เช่นที่เคยเกิดขึ้นในปี 2540  ลูกหนี้ของแบงค์ต่างก็ ล้มละลาย”  เป็นลูกโซ่  และแบงค์เกือบทั้งหมดแทบเอาตัวไม่รอด หลายแห่งก็ล้มลงไป  และนี่ก็คือความเสี่ยงของหุ้นแบงค์

    หุ้นของบริษัทลีสซิ่งและบริษัทที่ให้กู้สำหรับซื้อสินค้าเงินผ่อนนั้น   ส่วนใหญ่ก็มีการกู้เงินไม่ต่ำกว่า 4-5 เท่าของเงินทุนของตนเอง  การปล่อยกู้ให้กับลูกค้านั้น  บริษัทมักจะคิดดอกเบี้ยสูงกว่าแบงค์มากเพราะเป็นการปล่อยกู้ให้กับคนที่มีรายได้น้อยหรือคนที่ยังไม่มีกำลังที่จะซื้อสินค้าราคาสูงเช่นรถยนต์แต่อยากได้สินค้ามาใช้ก่อน  ดังนั้น  โอกาสที่ลูกหนี้จะกลายเป็นหนี้เสียก็จะสูงกว่ากรณีของแบงค์   ในกรณีที่เศรษฐกิจโดยทั่วไปดี  อัตราหนี้เสียก็มักจะไม่สูงนักทำให้ผลประกอบการของบริษัทดี  แต่ในบางช่วงที่เศรษฐกิจไม่ดี    อาจจะเป็นเพราะพืชผลทางการเกษตรมีราคาตกต่ำ  NPL ก็จะเกิดขึ้นจำนวนมาก  ผลก็คือ  บริษัทอาจจะขาดทุนหนัก  บางแห่งอาจจะไปไม่รอด   นอกจากนั้น  เนื่องจากการที่บริษัทในกลุ่มนี้ไม่ได้ถูกถือว่าเป็นสถาบันการเงินที่มีการรับเงินฝากจากประชาชน  การควบคุมจากทางการก็มีน้อย  ดังนั้น  การบริหารงานภายในบริษัทก็อาจจะหละหลวมหรือมีการทุจริตได้ง่าย  นี่ก็เป็นความเสี่ยงในด้านการบริหารงานที่เพิ่มขึ้นมาจากเรื่องของภาวะทางเศรษฐกิจ

    ข้อสรุปสั้น ๆ ของผมสำหรับหุ้นสองกลุ่มนี้ก็คือ  มันเป็นธุรกิจที่ดีจนถึงวันที่มันเจ๊ง”  ดังนั้น  หากจะลงทุนในหุ้นสองกลุ่มนี้ก็คงต้องพิจารณาและติดตามว่ามันจะมีโอกาสที่จะเจ๊งไหม  ทั้งจากเรื่องของภาวะเศรษฐกิจและเรื่องของตัวบริษัทในด้านของการบริหารงานภายใน  และนำมาเทียบกับราคาหุ้นที่จะเป็นตัวกำหนดผลตอบแทนที่เราจะได้จากการลงทุน

    หุ้นในกลุ่มบริษัทหลักทรัพย์นั้น  ความเสี่ยงอยู่ที่การเปิด เสรีธุรกิจหลักทรัพย์ซึ่งจะทำให้บริษัทแต่ละแห่งสามารถคิดค่าธรรมเนียมการซื้อขายหุ้นได้อย่างอิสระ  นี่จะทำให้รายได้หลักของโบรกเกอร์ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ  เนื่องจากจะมีโบรกเกอร์บางแห่งที่มีลูกค้าและคำสั่งซื้อขายหุ้นน้อยเสนออัตราค่านายหน้าในอัตราที่ต่ำเพื่อดึงดูดให้ลูกค้ามาซื้อขายหุ้นกับตนเอง  เมื่อคู่แข่งถูก ตัดราคาค่าบริการ  เขาก็จะต้องเสนอราคาที่ต่ำลงเพื่อรักษาลูกค้า  ผลก็คือราคาค่าบริการก็จะต่ำลงเรื่อย ๆ  จนอาจจะเข้าใกล้ศูนย์ในบางกรณี   กำไรของบริษัทหลักทรัพย์ส่วนใหญ่ก็จะลดลงและไม่สามารถคาดได้ว่าจะเป็นเท่าไร   นอกจากเรื่องของค่าคอมมิชชั่นแล้ว  ก็อาจจะมีบริษัทหลักทรัพย์  โดยเฉพาะจากต่างประเทศ  ที่จะมาเปิดให้บริการเพิ่ม  ซึ่งก็จะทำให้เกิดการแย่งส่วนแบ่งตลาดของโบรกเกอร์เดิมอีก   ดังนั้น  นี่คือความเสี่ยงสำคัญที่คาดการณ์ได้ยากสำหรับหุ้นบริษัทหลักทรัพย์

    หุ้นกลุ่มสุดท้ายก็คือ  หุ้นของบริษัทประกันภัยและประกันชีวิต  หุ้นในกลุ่มประกันภัยนั้น  ส่วนใหญ่ก็คือการประกันภัยรถยนต์  ส่วนน้อยและมักจะเป็นเครือของแบงค์จะมีรับประกันภัยบ้านและอสังหาริมทรัพย์อื่นเช่นอาคารและโรงงานต่างๆ  ด้วย  ในด้านของการประกันภัยรถยนต์นั้น  การแข่งขันสูงมาก  ทำให้บริษัทส่วนใหญ่มีกำไรที่ไม่ดีนัก  บางปีก็ขาดทุน  ดังนั้น  โดยพื้นฐานแล้วก็ไม่ถือว่าเป็นกิจการที่ดีอะไรนัก  ส่วนบริษัทประกันภัยที่เป็นเครือของธนาคารนั้น   มักจะได้เปรียบเนื่องจากจะได้ลูกค้าที่ถูกส่งต่อมาจากแบงค์ที่ให้เงินกู้และบังคับให้ลูกค้าทำประกันทรัพย์สินที่นำมาจำนองที่มักเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่โอกาสในการเคลมต่ำ  ผลก็คือบริษัทเหล่านี้มักจะมีกำไรดีต่อเนื่อง  อย่างไรก็ตาม หุ้นก็มักจะไม่ถูก

    หุ้นบริษัทประกันชีวิตในตลาดมีน้อยแต่เป็นหุ้นที่คึกคักมากในช่วงเร็ว ๆ  นี้สำหรับ VI หลายคน  เหตุผลก็เพราะว่าธุรกิจประกันชีวิตโดยเฉพาะในช่วงนี้มีการเติบโตค่อนข้างสูง  นอกจากนั้น  การที่บริษัทเป็นบริษัทในเครือแบงค์  ทำให้สามารถขยายธุรกิจไปได้ง่ายโดยทำผ่านพนักงานของแบงค์ที่เรียกว่า  แบงค์แอสชัวรัน”  นั่นคือ  ให้พนักงานแบงค์เป็นคนช่วยขายให้กับลูกค้าที่มีเงิน   การขายทำได้ง่ายเพราะแบงค์มีข้อมูลของลูกค้าครบ  ประกอบกับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่ต่ำมากทำให้การชักชวนคนทำประกันชีวิตทำได้ง่ายเพราะผลตอบแทนจากกรมธรรม์ดีกว่าการฝากเงิน  อย่างไรก็ตาม  หุ้นประกันชีวิตมีความเสี่ยงอยู่บ้างเพราะต้องเอาเงินเบี้ยประกันไปลงทุน  แม้ว่ามักจะลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำเป็นส่วนใหญ่แต่ความเสี่ยงก็ยังมีอยู่   เหนือสิ่งอื่นใดที่ทำให้ผมยังไม่ลงทุนในหุ้นกลุ่มนี้ก็คือ  ราคาหุ้นนั้น  ไม่ถูกเลย  โดยเฉพาะเมื่อดูจากค่า  PB ของหุ้น   
     
29  มิถุนายน  2554

หุ้นหลังรัฐบาลใหม่



การเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึงในครั้งนี้ผมคิดว่าเป็นการเลือกตั้งที่น่าจับตามองมาก สาเหตุก็เพราะประการแรก มันเป็นการแข่งขันกันแบบเอาเป็นเอาตายเพื่อจะได้จัดตั้งรัฐบาล ดังนั้นทั้งสองฝ่ายต่างก็ทุ่มเทและเสนอนโยบายที่จะเอาใจผู้ลงคะแนนส่วนใหญ่ของประเทศ ประการที่สองก็คือ นโยบายที่นำเสนอโดยพรรคการเมืองใหญ่ทั้งสองฝ่ายนั้น เป็นนโยบายที่อาจจะมีผลกระทบนอกจากกับประชาชนทั่วไปแล้ว มันยังจะมีผลกระทบไปถึงธุรกิจต่าง ๆ เป็นการทั่วไปอย่างมีนัยสำคัญขนาดที่เรียกว่าอาจจะเปลี่ยนแปลง โครงสร้างทางเศรษฐกิจหรือการทำธุรกิจของประเทศไทย และประการสุดท้าย มันอาจจะเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจหรือความน่าสนใจของหุ้นในตลาดหลักทรัพย์แต่ละกลุ่ม มาดูกันว่าเป็นอย่างไร

การเลือกตั้งครั้งนี้มีการเสนอนโยบายที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรมอย่างยิ่งในแง่ที่ว่า ถ้าคุณเลือกเราแล้ว คุณจะได้อะไร&rdquo สิ่งที่จะได้ไม่ใช่แค่นโยบายกว้าง ๆ อย่างที่เคยเป็นมา แต่เป็นสิ่งที่ชัดเจนและบอกเป็นตัวเลขได้ในหลาย ๆ ด้าน ผมคงไม่พูดถึงนโยบายทั้งหมดแต่จะพูดเฉพาะเรื่องที่ผมคิดว่าจะมีผลกระทบรุนแรงและน่าจะเกิดได้ทันทีหรือในเวลาอันสั้นมากนั่นคือนโยบายเกี่ยวกับค่าแรงขั้นต่ำ และนโยบายอัตราภาษีนิติบุคคล เพราะนี่คือนโยบายที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจโดยตรง และนโยบายการ รับประกันราคาสินค้าเกษตรหลัก ๆ เช่นข้าว เป็นต้น ซึ่งจะช่วยเพิ่มรายได้ให้กับคนจำนวนมากที่เป็นเกษตรกร

ถ้าหากมีการดำเนินนโยบายตามที่ประกาศจริงหลังจากที่ได้มีการจัดตั้งรัฐบาลไม่ว่าจะเป็นพรรคไหน ดูเหมือนว่าสิ่งที่ค่อนข้างแน่นอนก็คือ จะมีการปรับอัตราค่าแรงงานขั้นต่ำเพิ่มขึ้นมากซึ่งนี่ก็น่าจะกระทบไปถึงแรงงานในระดับอื่นด้วยที่จะต้องเพิ่มขึ้นไม่มากก็น้อย ผลก็คือ คนงานซึ่งมีอยู่จำนวนมากจะมีรายได้เพิ่มขึ้นมาก เช่นเดียวกัน การประกันราคาพืชผลก็จะส่งผลให้เกษตรกรจำนวนมากมีรายได้เพิ่มขึ้นค่อนข้างมากเช่นเดียวกัน นี่จะส่งผลให้ผู้ใช้แรงงานและเกษตรกรที่เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้นมากทันที เงินที่มากขึ้นนี้จะถูกนำมาใช้จ่ายซื้อสินค้าทำให้การบริโภคภายในประเทศเฟื่องฟูขึ้นมาก และสิ่งที่จะตามมาก็คือ อัตราเงินเฟ้อก็น่าจะสูงขึ้นพอสมควรทีเดียว อย่างไรก็ตามเงินเฟ้อนี้ก็ไม่น่าจะสูงเกินกว่าค่าแรงที่ได้เพิ่มขึ้น ผลก็คือ คนที่มีรายได้น้อยและเป็นคนส่วนใหญ่ในประเทศน่าจะได้ประโยชน์ ความมั่งคั่งของพวกเขาเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
หันกลับมาดูธุรกิจและผู้ประกอบการทั้งหลายก็จะพบว่า ต้นทุนของสินค้าและบริการของเขาจะเพิ่มขึ้น มากหรือน้อยขึ้นอยู่กับปริมาณแรงงานที่พวกเขาต้องใช้ โดยทั่วไป สัดส่วนต้นทุนแรงงานของธุรกิจขนาดเล็กจะสูงกว่าธุรกิจขนาดใหญ่ สัดส่วนการใช้แรงงานของธุรกิจที่ใช้เท็คโนโลยีต่ำก็จะสูงกว่าอุตสาหกรรมที่ใช้เท็คโนโลยีสูง ดังนั้น ธุรกิจขนาดเล็กและธุรกิจที่ใช้เท็คโนโลยีต่ำก็จะถูกกระทบรุนแรงเพราะจะมีต้นทุนการผลิตสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

ถ้าหากว่าธุรกิจมีการแข่งขันหรือขายสินค้าหรือบริการภายในประเทศเป็นหลักและสินค้าหรือบริการจากต่างประเทศไม่สามารถเข้ามาแข่งขันได้อย่างจริง ๆ จัง แบบนี้ธุรกิจก็อาจจะไม่ถูกกระทบมาก เพราะเมื่อต้นทุนของธุรกิจสูงขึ้นพอ ๆ กันทุกราย พวกเขาก็สามารถส่งผ่านต้นทุนที่เพิ่มขึ้นไปยังผู้ซื้อสินค้าหรือใช้บริการ ผลก็คือ พวกเขาก็น่าจะยังสามารถทำกำไรได้ต่อไป ธุรกิจที่ส่งออกสินค้าไปขายยังต่างประเทศนั้น ถึงแม้ต้นทุนค่าแรงจะเพิ่มขึ้นมาก พวกเขาก็ไม่สามารถส่งผ่านต้นทุนไปยังผู้ซื้อในต่างประเทศได้ เพราะคู่แข่งของพวกเขาที่อยู่ในประเทศอื่นนั้น ไม่ได้มีต้นทุนแรงงานที่เพิ่มขึ้น ดังนั้น ผู้ส่งออกน่าจะมีกำไรน้อยลงหรือบางรายอาจจะขาดทุนและไม่สามารถส่งออกสินค้าได้ต่อไป ดังนั้น สิ่งที่แน่ชัดก็คือ การส่งออกของประเทศน่าจะชะลอตัวลง กำไรของบริษัทส่งออกน่าจะน้อยลง ความมั่งคั่งของผู้ส่งออกน่าจะลดลง ผู้ส่งออกเป็นผู้ที่เสียประโยชน์อย่างชัดเจน

ธุรกิจที่เน้นขายให้กับผู้บริโภคภายในประเทศนั้น บอกไม่ได้ชัดว่าเสียประโยชน์จากนโยบายเพิ่มค่าแรงและเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร เพราะถึงแม้ค่าแรงซึ่งเป็นต้นทุนการผลิตจะเพิ่มขึ้น หลาย ๆ ธุรกิจก็สามารถเพิ่มราคาขายสินค้าและบริการได้ นอกจากนั้น การที่ประชาชนมีรายได้มากขึ้นก็ทำให้พวกเขามีการซื้อมากขึ้น รายได้ของธุรกิจก็สูงขึ้น นี่ประกอบกับอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นก็ส่งผลให้ราคาสินค้าเพิ่มขึ้นซึ่งก็ทำให้ธุรกิจขายสินค้าและมียอดขายสูงขึ้นตามอัตราเงินเฟ้อด้วย นอกจากรายได้ที่เพิ่มขึ้นแล้ว หากว่ารัฐบาลลดอัตราภาษีนิติบุคคลลง ต้นทุนทางด้านภาษีก็ลดลง เมื่อประกอบกับรายได้ที่เพิ่มขึ้น  กำไรของบริษัทก็อาจจะไม่ลดลง หรือบางทีอาจจะดีขึ้นด้วย ดังนั้น สำหรับผู้ที่ขายสินค้าหรือให้บริการภายในประเทศแล้ว พวกเขาอาจจะไม่เสียประโยชน์ หลายบริษัทอาจได้ประโยชน์ด้วยซ้ำ

หากว่าอัตราการเพิ่มของค่าแรงสูงมากพอ ผลกระทบรุนแรงพอ เราก็อาจจะได้เห็นธุรกิจโดยเฉพาะที่เป็นผู้ส่งออกบางรายอยู่ไม่ได้เพราะสินค้าที่เคยผลิตไม่สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก การส่งออกที่เคยเป็น เครื่องยนต์หลัก&rdquo ในการผลักดันการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศจะมีบทบาทน้อยลง เราจะไม่ได้เห็นการส่งออกที่โตเอา ๆ ต่อเนื่องมาเป็นสิบ ๆ ปีอีกต่อไป ในอีกด้านหนึ่ง การบริโภคภายในประเทศจะเข้ามามีบทบาทในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น ในภาพใหญ่ของประเทศ การกระจายความมั่งคั่งของคนไทยก็จะดีขึ้นเพราะประชาชนทั่วไปจะมีรายได้มากขึ้น ในขณะที่ผู้ส่งออกและผู้ประกอบการจำนวนไม่น้อยอาจจะมีรายได้น้อยลง ดังนั้น ถ้าเป็นแบบนี้ผมคิดว่านโยบายที่เสนอมาก็ไม่น่ามีปัญหาอะไรมากและน่าจะเป็นผลดี

ประเด็นปัญหาก็คือ ถ้าหากการเพิ่มค่าแรงและรายได้ให้กับผู้มีรายได้น้อยนั้นสูงเกินกว่าที่ควรจะเป็นมากเมื่อเทียบกับผลิตภาพในการผลิตและธุรกิจและแรงงานไม่สามารถปรับตัวได้ ผลที่จะเกิดขึ้นก็อาจจะน่ากลัวและเป็นอันตรายกับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว เหตุผลก็คือ การส่งออกของประเทศก็จะลดลงมาก ธุรกิจก็อาจจะต้องเลิก การจ้างงานอาจจะลดลง คนอาจจะตกงาน รายได้โดยรวมของผู้มีรายได้น้อยก็จะลดลง การบริโภคภายในประเทศก็จะลดลงตาม และดังนั้น แม้แต่ธุรกิจที่เน้นการบริโภคในประเทศเองก็อาจจะมีรายได้น้อยลง การจ้างงานก็อาจจะลดลงไปอีก สุดท้าย การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศก็จะลดลง และเมืองไทยก็อาจจะกลายเป็นประเทศที่ไม่สามารถแข่งขันได้คล้าย ๆ กับประเทศอย่างฟิลิปปินส์ที่มีค่าแรงขั้นต่ำอาจจะสูงแต่คนไม่มีงานทำ

ผมคงไม่กล้าเดาว่าประเทศไทยหลังจากมีรัฐบาลใหม่เศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร แต่ในด้านของหุ้นนั้น ในขั้นนี้เพื่อความปลอดภัย ผมคงพยายามที่จะเลือกหุ้นลงทุนที่จะปลอดภัยถ้ามีการดำเนินการตามนโยบายดังกล่าว และอาจจะพิจารณาหลีกเลี่ยงหุ้นของกิจการที่จะถูกกระทบรุนแรง อย่างไรก็ตาม โดยส่วนตัวแล้วผมก็คิดว่า บริษัทจดทะเบียนในตลาดดูเหมือนว่าจะถูกกระทบน้อยกว่าบริษัทขนาดเล็กและบริษัทผู้ส่งออกที่ส่วนใหญ่อยู่นอกตลาดหุ้น  
     
13  มิถุนายน  2554

Take Over Target



ในตลาดหุ้นต่างประเทศที่พัฒนาแล้ว จะมีนักลงทุนจำนวนหนึ่งที่วัน ๆ อาจจะมองหาหุ้นที่เขาคิดว่าน่าจะเป็นเป้าหมายของการถูกซื้อหรือควบรวมกิจการโดยคนอื่นที่ไม่ใช่เจ้าของหรือผู้บริหารปัจจุบัน ภาษาอังกฤษเรียกบริษัทหรือหุ้นเหล่านี้ว่าเป็น “Take Over Target” หรือ บริษัทที่อาจจะถูกซื้อหรือควบรวมกิจการ เหตุผลก็คือ หากต่อมามีคนมาเทคโอเวอร์กิจการจริง ราคาหุ้นก็มักจะวิ่งอย่างแรง ทำกำไรให้กับคนที่ซื้อหุ้นไว้ก่อนมหาศาล ตลาดหุ้นไทยเองก็น่าจะมีหุ้นที่จะถูกเทคโอเวอร์มากขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้น การเรียนรู้ว่าหุ้นตัวไหนจะมีโอกาสถูกเทคโอเวอร์ก็น่าจะเป็นประโยชน์กับการลงทุน ลองมาดูเงื่อนไขหรือองค์ประกอบที่ทำให้บริษัทจะเป็น Take Over Target กัน

ข้อแรกก็คือ โครงสร้างของผู้ถือหุ้น บริษัทที่มีผู้ถือหุ้นกระจัดกระจายและไม่มีผู้ถือหุ้นใหญ่เป็นเรื่องเป็นราว เช่น กลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ที่สุดมีหุ้นไม่ถึง 5 หรือ 10% และไม่มีหุ้นส่วนสำคัญอื่น ๆ บริษัทแบบนี้ในทางทฤษฏีแล้วก็สามารถเป็นเป้าหมายของการเทคโอเวอร์ได้ และนี่มักจะเป็นการเทคโอเวอร์แบบไม่เป็นมิตร นี่คือโครงสร้างแบบที่หนึ่ง โครงสร้างแบบที่สองที่อาจทำให้บริษัทถูกเทคโอเวอร์ก็คือ บริษัทเป็น บริษัทลูกหรือ บริษัทร่วมของบริษัทขนาดใหญ่ถึงใหญ่มาก ถ้าบริษัทแม่มีการปรับเปลี่ยนนโยบายหรือ ปรับโครงสร้างกลุ่มธุรกิจของบริษัท ก็มีโอกาสที่บริษัทแม่จะซื้อหรือขายกิจการบริษัทลูกหรือบริษัทร่วมเข้ามาหรือออกไป ลักษณะนี้ส่วนใหญ่ก็มักจะเป็นการเทคโอเวอร์แบบเป็นมิตร อย่างไรก็ตามบางทีก็ขึ้นอยู่กับหุ้นส่วนรายอื่นด้วยว่าจะเห็นด้วยหรือไม่กับการเทคโอเวอร์ ตัวอย่างเมื่อเร็ว ๆ นี้ ของกรณีที่หนึ่งก็คือกรณีของหุ้น TTA ในขณะที่กรณีตามโครงสร้างที่สองก็คือ กรณีของหุ้นในกลุ่มปิโตรเคมีในเครือ ปตท.หลายบริษัทในตลาดและกรณีของหุ้นเสริมสุขเป็นต้น

เงื่อนไขที่สอง หุ้นที่เป็นเป้าหมายการถูกเทคโอเวอร์โดยเฉพาะในแบบที่ไม่เป็นมิตรและไม่เกี่ยวกับการปรับโครงสร้างกลุ่มธุรกิจนั้น มักจะเป็นหุ้นที่มีมูลค่าตลาดต่ำ หรือตกต่ำลงมาก และต่ำกว่ามูลค่าพื้นฐานที่ควรเป็นหรือต่ำกว่ามูลค่าของสินทรัพย์สุทธิ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สินทรัพย์ที่เป็นเงินสดของบริษัท และเหตุผลที่หุ้นมีราคาตกต่ำนั้น เป็นเพราะการบริหารงานที่ไม่ดีหรือบริษัทมีนโยบายที่ไม่เหมาะสมทำให้กิจการมีกำไรน้อยหรือขาดทุน ส่งผลให้ราคาหุ้นลดลงหรือตกต่ำต่อเนื่องยาวนาน โดยที่ผู้ที่จะมาเทคโอเวอร์มองว่า ถ้าสามารถเปลี่ยนแปลงผู้บริหารหรือกลยุทธ์ของบริษัท ผลประกอบการของบริษัทจะดีขึ้นมาก หรือคนเทคโอเวอร์อาจจะเห็นว่า บริษัทมีทรัพย์สินที่สามารถนำมาจ่ายปันผลให้กับผู้ถือหุ้นได้มากคุ้มค่าแทนที่จะเก็บไว้กับบริษัทโดยที่ไม่รู้ว่าอนาคตผู้ถือหุ้นจะได้อะไร

ตัวอย่างที่เกิดขึ้นมากกับกรณีของการบริหารงานก็คือ การที่บริษัทมีเงินสดมากอันเป็นผลจากกำไรที่ทำได้มากจากธุรกิจปกติของบริษัท แต่เมื่อผลประกอบการของธุรกิจเดิมเริ่มตกต่ำลง ผู้บริหารก็มักจะพยายามหาธุรกิจอื่นที่ตนเองไม่มีความรู้หรือประสบการณ์มาทำโดยการเข้าไปซื้อธุรกิจเหล่านั้นในราคาที่ “Aggressive” หรือราคาที่มักจะแพงกว่าปกติ ผลก็คือ กำไรของบริษัทก็ยิ่งตกต่ำลงไปกว่าเดิม ซึ่งทำให้ราคาหุ้นตกลงมามาก คนที่เทคโอเวอร์เองเห็นว่า ถ้าสามารถเข้าไปเปลี่ยนผู้บริหารหรือเปลี่ยนกลยุทธ์ของบริษัท ผลการดำเนินงานน่าจะดีขึ้นซึ่งก็จะส่งผลให้ราคาหุ้นวิ่งขึ้นไปมหาศาล

ตัวอย่างที่เกิดขึ้นในเรื่องของทรัพย์สินของบริษัทที่มีมากแต่ผู้บริหารไม่จ่ายออกมาเป็นปันผลให้กับผู้ถือหุ้นเท่าที่ควร ทำให้ราคาหุ้นตกต่ำลงมาก จนบางกรณีราคาหุ้นต่ำกว่าเงินสดที่บริษัทมีอยู่ นี่ก็เป็นกรณีที่เกิดกับบริษัทหลักทรัพย์บางแห่งและบริษัทอิเล็คโทรนิคบางบริษัท กรณีแบบนี้ หลังการเทคโอเวอร์ ก็มักจะมีการจ่ายปันผลจำนวนมากออกมาเพื่อให้คนที่เทคโอเวอร์นำเงินมาใช้คืนเจ้าหนี้หรือคืนเงินค่าหุ้นที่ตนเองซื้อมาในราคาต่ำ ทำกำไรให้กับคนเทคโอเวอร์มหาศาลเช่นเดียวกับนักลงทุนที่เห็นและเข้าไปซื้อหุ้นไว้ก่อน

เงื่อนไขข้อสามที่จะทำให้หุ้นเป็นเป้าหมายการเทคโอเวอร์ก็คือ การที่ผู้บริหารสูงสุดมักเป็น นักบริหารมืออาชีพพูดง่าย ๆ ไม่ได้เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นใหญ่ ดังนั้น การดูแลผู้ถือหุ้นจึงมักเป็นเป้าหมายรอง เพราะการที่ราคาหุ้นจะตกหรือขึ้นผู้บริหารก็ไม่ใคร่จะได้อะไร แต่การที่ขยายงานให้บริษัทใหญ่ขึ้นหรือการที่บริษัทมีเงินสดมาก ๆ นั้น ผู้บริหารก็มักจะได้ผลตอบแทนที่สูงขึ้นหรือมีความมั่นใจว่าบริษัทจะไม่มีปัญหาในการดำเนินงานที่อาจส่งผลกระทบกับตำแหน่งหน้าที่ของตนเอง ดังนั้นจึงสร้างเงื่อนไขของการเทคโอเวอร์ขึ้น ประเด็นอีกอย่างหนึ่งก็คือ ในสังคมไทยนั้น ถ้าบริษัทยังบริหารโดยคนในครอบครัวหรือตระกูลที่เคยหรือยังถือหุ้นค่อนข้างมากในบริษัท คน ภายนอกก็คงไม่อยากจะเข้าไปเกี่ยวข้อง เพราะเรื่องอาจจะขยายตัวไปเป็นเรื่อง ส่วนตัวซึ่งไม่คุ้มสำหรับคนที่คิดจะเทคโอเวอร์

เงื่อนไขข้อสุดท้ายก็คือ ในเรื่องเชิงเศรษฐศาสตร์และอาจจะเรื่องของตลาดหุ้นด้วย นั่นคือ มีการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างอุตสาหกรรมหรือธุรกิจที่ทำให้การรวมกิจการเป็นหนทางที่สำคัญในการ อยู่รอดหรือ รุ่งเรืองของบริษัทโดยเฉพาะบริษัทขนาดเล็กที่ไม่มี Economy of Scale หรือไม่มีความคุ้มค่าในการแข่งขันเมื่อเทียบกับบริษัทที่ใหญ่หรือมีขนาดที่เหมาะสมกว่า ตัวอย่างในเรื่องนี้ก็อาจจะเป็นธุรกิจอย่างโรงพยาบาลที่มีความเคลื่อนไหวในช่วงนี้ แม้ว่าเหตุผลอาจจะเป็นเรื่องของการตอบสนองของราคาหุ้นมากกว่าเหตุผลเชิงเศรษฐกิจหรือต้นทุนการดำเนินงาน หรืออย่างที่เราอาจจะได้เห็นในอนาคตก็อาจจะเป็นธุรกิจหลักทรัพย์หลังจากการเปิดเสรีในเร็ว ๆ นี้ที่บริษัทเล็ก ๆ อาจจะอยู่ได้ยากเป็นต้น

การลงทุนโดยตั้งความหวังว่าอาจจะมีคนมาเทคโอเวอร์บริษัทเพียงสถานเดียวนั้น เป็นเรื่องที่เสี่ยงอย่างยิ่งโดยเฉพาะในตลาดหุ้นไทยที่ยังต้องอิงกับ ขนบธรรมเนียมและ กฎเกณฑ์ที่ไม่มีการประกาศอีกมาก นี่ไม่ต้องพูดถึงว่าจะมีคนสนใจมาเทคโอเวอร์หรือเปล่าแม้ว่าจะมีเป้าหมายที่เด่นชัด สังคมไทยนั้น ความเชื่อก็คือ ถ้าเขาซึ่งก็คือ ผู้บริหาร ถูกกระทำโดยที่ฝ่าย ผู้กระทำซึ่งเป็นคนเทคโอเวอร์นั้น มีแรงจูงใจก็คือ ผลกำไรมหาศาลโอกาสที่ผู้กระทำจะกลายเป็น จำเลยสังคมก็มีไม่น้อย ดังนั้น ถ้าจะเล่นเรื่องเทคโอเวอร์ ผมคิดว่ากลยุทธ์ที่สำคัญที่สุดก็คือ ตัวหุ้นหรือกิจการนั้น ต้องมีราคาต่ำกว่ามูลค่าพื้นฐานมาก แม้ว่าจะไม่มีคนมาเทคโอเวอร์มันก็คุ้มค่าที่จะลงทุนอยู่ดี ส่วนการที่มันอาจจะถูกเทคโอเวอร์นั้น เป็นเพียง โบนัสที่จะได้ ซึ่งมันอาจจะเป็น ลาภลอยที่มีมูลค่ามากยิ่งกว่าพื้นฐานจริง ๆ ที่เราคิดคำนวณไว้

     
7  มิถุนายน  2554